เรียนภาษาจีนกับอาจารย์อี้ : ตอนที่1 ประวัติศาสตร์จีน อะไรคือตัวชี้วัดราชวงศ์เเรก

อ.อี้ hsk & patจีน

เกร็ดมังกร ตอน ต่อยอดShot Noteประวัติศาสตร์จีน ตอนที่1

อะไรคือตัวชี้วัดว่าราชวงศ์เเรกคือ 夏xià

ตัวช่วยสำหรับบทความนี้ได้เเก่ :ตารางยุคสมัยฉบับย่อที่เคยโพสไว้ **บุคคลสำคัญ: : 尧(yáo)舜(shùn) 禹(yǔ) และ启(qǐ)
คำสำคัญ 天下(tiānxià) / 公天(gōng tiān xià) / 家天下(jiā tiān xià) / 禅让(shàn ràng) / 世袭(shì xí) / 王朝(wángcháo) / 国家(guójiā)

เชื่อว่านักศึกษาจำนวนมากมีอุปสรรคในการเรียนวิชาประวัติศาสตร์จีน บทความนี้จึงเขียนขึ้นเพื่อ นักศึกษาที่ประสบปัญหาการเรียนอยู่ โดยจะถยอยอัพเดท ต่อยอดShot Note12ราชวงศ์หลักที่เคยโพ้สไปครับ มาแบบสั้นๆพอดีคำ เอาแต่เหตุการณ์หลักที่ควรรู้ก่อน เพื่อเป็นขอนไม้ให้นักศึกษายึดเหนี่ยว ขณะที่กำลังลอยคอเท้งเต้งในทะเลอักษรอันไร้ทัศทาง ชักออกทะเลแล้ว พายกลับฝั่งเข้าเรื่องดีกว่า ส่วนผู้สนใจทั่วไปก็อ่านได้นะครับ เพราะคำสำคัญต่างๆผมแปลเป็นไทยให้แล้ว เอาเพื่อความเพลินเพลินได้ตามสบายครับ (ความยาวประมาณ 1 A4ครึ่ง)

ใครเป็นคนกำหนดว่าราชวงศ์แรกคือราชวงศ์夏?คำตอบคือ นักประวัติศาสตร์และโบราณคดี อันนี้ไม่ต้องสงสัยอยู่แล้ว แต่ต้องอธิบายว่า เอาอะไรมาวัด? แล้วสาระจริงๆของการเรียน ส่วนที่เป็นสามมหาบุรุษ尧(yáo)舜(shùn) 禹(yǔ) สำคัญยังไง แล้ว启(qǐ) คือใคร ทำไมต้องพูดถึงคนนี้ คำตอบอยู่ที่คำสำคัญ / key word ที่ให้ไว้ข้างบนครับ มาดูกัน

คำว่า天下(tiānxià) ใต้ฟ้า/ใต้หล้า *เป็นทัศนคติเรื่องแผ่นดินของคนจีนโบราณ ฟ้าสวรรค์เป็นเจ้าของแผ่นดิน มนุษย์เป็นเพียงผู้อาศัย ไม่มีใครเป็นเจ้าของได้ ฉะนั้นระบบแรงของชุมชนจีนโบราณคือระบบ公天下(gōng tiān xià)หรือแผ่นดินของส่วนรวม นั่นเอง เมื่อเป็นของส่วนรวม แม้แต่ผู้ที่ถูกยกย่องเป็นผู้นำก็ไม่อาจเป็นเจ้าของ เมื่อแก่ชราจึงเป็นธรรมเนียบต้องสละตำแหน่งให้แก่คนที่มีความสามารถและอายุ เหมาะสม ซึ่งระบบสละตำแหน่งใช้คำว่า 禅让(shàn ràng) สละปล่อยวาง การสืบทอดอำนาจในยุคแรกจึงไม่เกี่ยวกับทางสายเลือด แต่พิจารณาจาความสามารถและคุณธรรม ใครก็มีสิทธิ์เป็นผู้นำได้ ถ้าคนนั้นดีพอ แบบอย่างของการสละปล่อยวาง禅让(shàn ràng) คือราชาชื่อเหยา尧(yáo) เมื่อ尧(yáo)อยู่ในตำแหน่งราชาจนอายุ70กว่า ก็เริ่มออกเดินทางเฟ้นหาผู้นำคนใหม่ จนพบกับซุ่น舜(shùn) ผู้ได้ชื่อว่าลูกกตัญญูและคุณธรรมสูงส่ง จึงสละตำแหน่งให้ทันที ระบบ禅让(shàn ràng) นี้เป็นระบบที่ไม่ก่อเกิดราชวงศ์ เพราะไม่มีการสืบทอดอำนาจสันตติวงศ์ อำนาจพ่อมีโอกาสน้อยมากที่จะสืบทอดโดยตรงสู่ลูก เพราะ ทุกคนค่อนข้างมียางอาย กลัวจะไม่งาม เป็นที่ครหา

แต่ต่อมา คนเราเริ่มใจกล้า ถามว่าเหตุใดถึงใจกล้า เพราะเริ่มเอาชนะธรรมชาติได้นั่นเอง พี่อี้รับประกันได้ว่านักศึกษาทุกคนเคยเรียน大禹治水มหาบุรุษหหยูวี่ผู้ผันนำ แต่เรียนไปเรียนมาก็งงไปงงมาว่า ผันน้ำแล้วไง ยังไงต่อ ตรงนี้แหล่ะ เรื่องสำคัญ เมื่อ禹(yǔ)ผันน้ำแก้ปัญหาน้ำท่วมสำเร็จ ต่อมาไม่นาน舜(shùn) ประกาศสละปล่อยวาง มอบตำแหน่งให้หยูวี่禹(yǔ)

ซึ่งช่วงเวลานั้น การผันน้ำของหยูวี่禹(yǔ)เข้าสู่ยุคที่มนุษย์ท้าทายธรรมชาติอย่างเต็มตัว ความเชื่อเดิมๆถูกล้มล้าง ขุดภูเขา ผันทางน้ำ เริ่มสร้าง风水(ทำเลที่ทาง)ตามใจตัวเองมากขึ้น มหาบุรุษกลายเป็นผู้เสมอเทพ เป็นที่ยำเกรงของคนทุกเผ่า(เผ่านที่ไม่เจริญย่อมเสียเปรียบเพราะกลัวจึงไม่ กล้า เมื่อไม่กล้าจึงยอมจำนน หยูวี่ 禹(yǔ)เป็นผู้นำที่มากด้วยความรู้ความสามารถ แต่ในขณะเดียวกัน ความรู้ นำเป็นสู่การครอบครอง เมื่อครอบครองมากเข้า ครั้นจะสละปล่อยว่างย่อมเป็นเรื่องยาก ครอบครัวของหยูวี่禹(yǔ)เติบโตขยายในฐานะผู้เสมอเทพ ทัศนคติในการมองโลกก็เปลี่ยนไป

เมื่อหยูวี่禹(yǔ)ถึงแก่กรรมในขณะที่ยังไม่ได้สละอำนาจชัดเจน ลูกชื่อฉี่启(qǐ)ก็เกิดความคิดลักลั่น ปฏิเสธการสละตำแหน่งโดยนำเรื่องผลงานและทรัพย์สินไปผูกกับตำแหน่ง เพื่อเป็นข้ออ้างว่าสละไม่ได้ (ความจริงจะสละตำแหน่งไป ก็ไม่มีใครมาแยกสมบัติ/ลบล้างเกียรติยศตระกูลหรอก) เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้น จึงเกิดการแตกหัก เผ่าบางเผ่าไม่ยอม บานปลายกลายเป็นสงคราม ซึ่งฉี่启(qǐ)ชนะใสๆอยู่แล้ว เพราะอำนาจบารมีและกองทัพที่เลี้ยงไว้มีมากกว่าพวกเผ่าที่มัวแต่เป็นคนดี禅让 (shàn ràng)กันมาตลอด ในที่สุด ระบบแผ่นดินของส่วนรวม公天下(gōng tiān xià) ก็กลายเป็น แผ่นดินของตระกูลเดียว家天下(jiā tiān xià) คำว่าประเทศ ในภาษาจีนจึงประกอบด้วย2พยางค์ 国家 เกิดจากคำว่า อาณาเขต+คำว่า สกุลวงศ์ นั่นเอง เพราะการที่เป็นประเทศได้ ย่อมหมายถึงมีผู้นำไงล่ะครับ

ตั้งแต่启(qǐ)เป็นต้นไป ก็เกิดระบบ世袭(shì xí)หรือระบบสืบสันตติวงศ์ขึ้น เมื่อต้องสืบสันติวงศ์ ก็ต้องมีชื่อวงศ์ใช่ไหมล่ะครับ ดังนั้น ฉี启(qǐ)จึงนำชื่อเผ่าของตน นั่นคือเผ่า夏ซึ่งประกอบด้วย12สกุลแซ่ มาเป็นชื่อราชวงศ์ เขาไม่กล้าเอาแซ่สกุลตัวเองคนเดียวเป็นชื่อราชวงศ์เพราะเดี๋ยวจะโดนรุม ก็ต้องหาพวกไว้ก่อน เป็นรากฐานอำนาจ และการตั้งตนเป็นราชา วงศ์ของราชา ย่อมเป็น ราชวงศ์王朝ใช่ไหมล่ะครับ จึงกลายเป็นที่มาของราชาวงศ์แรกในประวัติศาสตร์จีน ราชวงศ์เซี่ยา夏朝 สรุปตัวชี้วัดว่านี่คือราชวงศ์แรกเพราะมันคือการสืบทอดอำนาจด้วยระบบสืบ สันตติวงศ์ครั้งแรกนั่นเอง

ผมค่อนข้างเน้นเรื่องราวของ启(qǐ) เพราะเป็นสาระที่แท้จริงของการก่อเกิดราชวงศ์ ส่วน尧(yáo)舜(shùn) 禹(yǔ) มันคือดราม่าที่เรียนสนุกและแฝงเรื่องราวของคุณธรรมมากกว่า ไม่ได้อธิบายถึงที่มาของราชวงศ์ ฉะนั้นถ้าจะทำความเข้าใจที่มาของราชวงศ์เเรกในประวัติศาสตร์ ย่อมขาด启(qǐ)ไม่ได้ครับ เพราะถ้าขาดไป นักศึกษาจะงงทันที ประมาณว่า เรียนไปตั้งสามคน เป็นเรื่องดราม่าหมดเลย แล้วไงต่อ??? เเล้วจะสรุปเรื่องอะไร?…งงค้างเลยสิครับ^^” จริงไหมล่ะ

สุดท้ายนี้ เรามาสรุปกันหน่อย ขอบสรุปเหตุการณ์ฉบับย่อทั้งหมดให้สั้นลงอีก เหลือแค่ 3 บรรทัดสั้นๆ คือ

“เมื่อระบบสละตำแหน่ง禅让(shà ràng) ในยุคของเหยา尧(yáo)ซุ่น舜(shùn) หยูวี่禹(yǔ) ถูกแทนที่ด้วยระบบสืบสันตติวงศ์世袭(shì xí)ในยุคของฉี่启(qǐ) แผ่นดินของส่วนรวม公天下(gōng tiān xià)จึงกลายมาเป็นแผ่นดินของสกุลวงศ์家天下(jiā tiān xià) เมื่อวงศ์ที่ว่ากลายเป็นราชา จึงเกิดราชวงศ์王朝 และดินแดนที่ปกครองด้วยราชวงศ์จึงเรียกว่า国家”

จบ… แล้วเจอกันใหม่ครับ

ปล.สำหรับนักศึกษาที่อ่านเพื่อการเรียน อ่านบทความให้ครบรอบหนึ่งแล้วค่อยเอา บทสรุป3บรรทัดไปท่องจะดีมากครับ เพราะถ้าท่องแต่ บทสรุป ไม่ได้ช่วยในการเชื่อมโยงและบูรณาการความรู้ครับ ฝากไว้

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน