เรียนภาษาจีนกับอาจารย์อี้ : ตอนที่3 商纣暴政?

อ.อี้ hsk & patจีน

ราชวงศ์ซางตอนปลาย晚商 จุดจบของทรราชย์เเละจุดเริ่มต้นของสูตรล้มราชวงศ์
เกร็ด มังกร ต่อยอดShot Noteประวัติศาสตร์จีน ตอนที่3 ตอน商纣(shāng zhòu)暴政(bàozhèng)?

ข้อหาทรราชจริงหรือเท็จ? 正义还是阴谋?สูตรล้มเจ้า ชอบธรรมหรือเล่เหลี่ยม? วันนี้มายาวหน่อยครับ เพราะมีทั้งข้อมูลและดราม่า 3 หน้าA4พอดี^^”

เมื่อตอนที่แล้วเกริ่นทิ้งท้ายไว้ว่า เจ้าแผ่นดินคนสุดท้ายในราชวงศ์ซาง商 มีนามว่า “ซางโจ้ว商纣(shāng zhòu)” และเหตุการณ์โค่นล้มทรราช ถือเป็นสงครามปฏิวัติที่มีความสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์จีน และเป็นที่มาของ “สูตรล้มราชวงศ์” ในยุคต่อๆมา ในแง่ของวรรณกรรม ซางโจ้ว商纣(shāng zhòu)เป็นทรราชที่ถูกประนามราวกับปีศาจชั่วร้าย มีนิสัยโหดเหี้ยมอำมหิต ฆ่าคนเป็นว่าเล่นขนาดแค่อาหารจืดชืดไม่ได้อย่างใจก็สั่งประหารพ่อครัวทั้งโรงครัวได้ และต่อมายังลุ่มหลงนารีชื่อ ต๋าจี่妲己 Dájǐ  ถึงขนาดสร้างสระหยก เสพสุราเคล้านารีในสระหยกจนไม่สนใจการบริหารประเทศ บวกกับนิสัยโหดเหี้ยมอำมหิต สร้างความทุกข์ยากแก่ประชาชนมหาศาล นำไปสู่การปฏิวัติล้มราชวงศ์商โดยฝีมือของเจ้าชายจีฟา姬发 Jīfā แห่งแคว้นโจว และก่อตั้งราชวงศ์โจว周สำเร็จ ซางโจ้ว商纣(shāng zhòu)ปกครองประเทศเยี่ยงทรราช暴政(bàozhèng) เป็นความเชื่อตามตำราเรียนและวรรณกรรมที่ฝังลึกมาช้านาน ตอนที่ผมเรียนวิชาประวัติศาสตร์ระดับประถมจนถึงม.ต้นที่ประเทศจีน ตำราส่วนใหญ่ก็ยืนยันเช่นนั้น แต่ประโยคที่นักประวัติศาสตร์และอักษรศาสตร์ชื่อกัวม่อยั่ว郭沫若กล่าวไว้ว่า “ประวัติศาสตร์คือตุ๊กตาที่คนรุ่นหลังจับแต่งตัวได้ตามใจ历史是任人打扮的小姑娘” ก็เป็นความจริงอีกข้อที่น่าคิด การกล่าวถึงบุคคลในประวัติศาสตร์จึงจำเป็นต้องอาศัยมุมมองที่เป็นกลาง ว่ากันด้วยหลักฐาน ถ้าไม่มีหลักฐานก็ควรจะถือว่าเป็นแค่เรื่องเล่า

*ซางโจ้วเป็นทรราช จริงหรือเท็จ?
ข้อหาทรราชของซางโจ้วค่อยๆเพิ่มมาขึ้นจากหกข้อในยุคปลายราชวงศ์ซาง商 กลายเป็นสิบกว่าข้อในราชวงศ์ต่อมา คือโจว周 และนานวันเข้า เมื่อถึงราชวงศ์ฮั่น汉 ทั้งพงศาวดารฉบับหลวง正史(zhèngshǐ)กับฉบับราษฎร์野史(yěshǐ)รวบรวมมากถึงเจ็ดสิบข้อ การทรมานนักโทษด้วยตะขอเหล็กร้อน การประหารพ่อครัวเพราะอาหารจืดชืด การเริงรักกับสนมต๋าจี่ในสระหยก ล้วนเป็นบันทึกที่เกิดขึ้นในภายหลังทั้งสิ้น บางบันทึกไปไกลถึงขนาดจากเริงรักกับต๋าจี่เพียงลำพังกลายเป็น เรียกสนมทั้งหมดมาลงสระหยก และชวนขุนนางคนสนิทมาร่วมด้วยอีก เรียกได้ว่าเป็นเจ้าพ่ออ่างสุกี้คนแรกของโลกก็ว่าได้ ^^” ยิ่งในยุคราชวงศ์หมิงและชิงที่นิยายเฟื่องฟู บางครั้งนิยายอิงประวัติศาสตร์ก็เกินเลยถึงขั้นแฟนตาซี ต๋าจีกลายเป็นจิ้งจอกเก้าหางที่รับคำบัญชาจากสวรรค์เพื่อลงมาทำให้ราชวงศ์ซางที่ปกครองด้วยระบอบทรราชย์ล้มสลาย และเพื่อให้ราชวงศ์โจวที่ปกครองด้วยระบอบธรรมราชย์ถือกำเนิดขึ้น พูดง่ายๆคือเขียนให้คนเลวดูเลวสุดๆเพื่อสร้างตัวละครฝ่ายคนดีที่ดีสุดๆเท่านั้นเอง

*ใครควรจะเกลียดชังซางโจ้วมากที่สุด?
เมื่อย้อนดูบันทึกเกี่ยวกับซางโจ้ว商纣ในยุคที่เขายังมีชีวิตอยู่ และยุคต้นราชวงศ์โจว周 ปรากฏว่า ไม่ได้บันทึกสิ่งชั่วร้ายและความวิตถารเหล่านั้นเลย แม้แต่จีฟา姬发ผู้โค่นล้มซางโจ้ว商纣 ก็ไม่ได้กล่าวให้ร้ายซางโจ้วขนาดนั้น ลองคิดง่ายๆ ถ้าโลกนี้จะมีคนเกลียดชังซางโจ้ว商纣 คนๆนั้นควรจะเป็นจีฟาอย่างไม่ต้องสงสัย เหตุเพราะพี่ชายของจีฟาถูกซางโจวประหาร พ่อของจีฟาก็ถูกซางโจ้วขังคุกอยู่หลายปี และในบันทึกของจีฟา ซางโจ้วเคยบังคับให้พ่อของตนกินเนื้อของลูกตนเอง(พี่ชายของจีฟาที่ถูกประหาร) จึงกลายเป็นปมความแค้นระหว่างสองตระกูลใหญ่นั่นเอง

*ซางโจ้วปกครองระบอบทรราชย์ จริงหรือ?
ความจริงอย่างที่เคยกล่าวไว้ในตอนที่1-2แล้วว่า ตั้งแต่ยุคใต้หล้าของส่วนรวม公天下จนถึงยุคใต้หล้าของตระกูล家天下 ราชวงศ์夏จนถึงซาง商 ล้วนปกครองด้วยระบบสืบสันตติวงศ์ ปกครองระบบศักดินาเป็นหลัก แต่ก็เป็นสังคมเกษตรด้วย การค้าทาสจึงเป็นสิ่งจำเป็นในสมัยนั้น แต่ทาสก็ไม่ได้เกิดจากระบบการแบ่งวรรณะใดๆทั้งสิ้น แต่เกิดจากการยอมเสนอขายตัวเอง ทำกันเป็นการค้า และในช่วงที่มีสงครามก็เป็นไปได้ที่พ่อค้าทาสรับซื้อเชลยสงครามมาเป็นทาส เพื่อแบ่งเบาภาระการใช้จ่ายของกองทัพ เข้าใจว่าในยุคนั้น อย่างน้อยเป็นทาสดีกว่าเป็นเชลยศึก เพราะเชลยศึกอาจถูกนำไปประหาร ถ้ากองทัพเลี้ยงไม่ไหว ลองคิดดูว่า ถ้าต้องเลี้ยงเชลยศึกทีละเป็นพันคน รายจ่ายของประเทศจะมากมายขนาดไหน ฉะนั้น การโอนไปเป็นทาสถือเป็นวิธีหมุนเวียนเศรษฐกิจที่ได้ผลในยุคนั้น และดีกว่าการประหารทิ้ง เพราะจะโดนประชาชนเกลียดชังเสียเปล่าๆ

ปรากฏว่า ภาพลักษณ์ของซางโจ้วที่ชั่วร้ายกลับขัดแย้งกับบันทึกประวัติศาสตร์ที่ถูกค้นพบหลายๆเรื่อง เช่น ซางโจ้วเป็นนักการทหารที่ปรีชาสามารถและกล้าหาญชาญชัย มักจะนำทัพด้วยตัวเอง ไม่ใช่การเสพสุขอยู่ในวังอย่างที่คนเชื่อกัน และซางโจ้วเป็นหนึ่งในเจ้าแห่งแค้วนที่ยึดถือประเพณีบวงสรวงสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างเคร่งครัด ปรากฏตัวในพิธีสำคัญทุกครั้ง(ก็ดูไม่ขี้เมาเท่าไหร่) แต่ในขณะเดียวกัน ซางโจ้วไม่ใช่คนงมงายจนหน้ามืดตามัว เขาเคยปฏิวัติความเชื่อโดยการลงโทษขั้นรุนแรงต่อพ่อมดหมอผีที่หาประโยชน์จากพิธีกรรมและความเชื่อ และปฏิรูปการปกครองโดยการลงโทษศักดินาที่ทำตัวเหลวแหลกสร้างความเดือนร้อนให้ชาวบ้าน และมีการปราบปรามการฉ้อราษฎร์บังหลวงอย่างจริงจัง ส่งผลให้เศรษฐกิจของซางในช่วงการปกครองของซางโจ้วเฟื่องฟู จนเหลืองบประมาณมหาศาลสำหรับการแผ่ขยายอาณาจักร แต่การเป็นผู้นำที่นิสัยเด็ดเดี่ยว บางครั้งก็ลงโทษผู้ใต้บังคับบัญชาเกินกว่าเหตุ ซึ่งจุดนี้ ฮ่องเต้ในยุคต่อๆมาก็เป็นกันหมดแถมเป็นหนักกว่าซางโจ้วก็มีถมไป

กรณีหลงนารีจนหัวปักหัวปำไม่สนใจทุกข์สุขของประเทศก็ยังน่าสงสัย เพราะในประวัติศาสตร์พูดถึงต๋าจี่ สนมเอกของซางโจ้วน้อยมาก ประมาณว่ามีอยู่ 1 บรรทัด คือ “ต๋าจีเป็นลูกทาส คนส่วนมากมองว่าทาสชั้นต่ำเท่ากับสัตว์เลี้ยง แต่ซางโจ้วกลับไม่คิดเช่นนั้น จึงรับต๋าจีมาเป็นสนม” ซึ่งถ้ามีการบันทึกแค่นี้ คนรุ่นหลังจะนำมาปรุงแต่งเป็นนิยายรัก หรือนิยายทรราชก็ได้ทั้งนั้น เช่นอยู่ดีๆจะเขียนว่า เป็นรักต่างชนชั้นแบบเดียวกับ ฮ่องเต้เฉียนหลงกับหญิงชาวใต้ ก็ได้นะ ฉะนั้นเขียนให้ดูดี หรือเขียนให้ดูเลว มันขึ้นอยู่กับ”จุดประสงค์” แน่นอน ถ้าเป็นวรรณกรรมเกี่ยวกับการปฏิวัติล้มเจ้า คงไม่เขียนความรักแหวกม่านประเพณีของซางโจ้ว商纣แน่ๆ

*สงครามปฏิวัติที่ทุ่งมู่เหย่牧野之战
สิ่งที่นักประวัติศาสตร์สรุปอย่างเป็นกลางมีดังนี้ครับ ในปลายราชวงศ์ซาง ซางโจ้วมีอำนาจทางการทหารที่แข็งแกร่ง แผ่ขยายอำนาจอย่างรวดเร็ว แต่จุดเปลี่ยนของสงครามเกิดขึ้นที่หลังบ้าน เริ่มจากเหตุการณ์พี่ชายของจีฟาแห่งตระกูลโจว เกิดหลงรักนางสนมของซางโจ้ว(คนรุ่นหลังก็โยงเรื่องนี้เข้ากับต๋าจี่妲己ซึ่งจริงเท็จอย่าง ไรก็ไม่มีข้อยืนยัน) ทำให้ซางโจ้วบันดาลโทสะ สั่งประหารเสีย และจับพ่อของจีฟาขังคุก ซึ่งมองในแง่ของหลักสงคราม การจับผู้นำประเทศราชขังคุกในกรณีนี้อาจเป็นสิ่งจำเป็น เพราะซางโจ้วต้องนำทัพออกรบบ่อยครั้ง จึงไม่อาจไม่ระวังหลัง เมื่อประหารบุตรชายเขาไปด้วยความโมโห ย่อมสร้างความเจ็บแค้นให้ผู้เป็นพ่อ เพื่อป้องกันกบฎ จึงต้องจับพ่อไปขังไว้ก่อน ซึ่งต่อมาเมื่อเสร็จจากศึกสงครามซางโจ้วก็ปล่อยตัวพ่อของจีฟาออกมา นำไปสู่การซ่องสุมกำลังของฝ่ายตระกูลโจว (ฝ่ายจีฟาและพ่อที่เพิ่งถูกปล่อยตัว) ซึ่งถ้ามองในแง่นี้ ถือเป็นการตัดสินใจผิดครั้งใหญ่หลวงของซางโจ้วถึงขั้นสิ้นชาติ เพราะความใจอ่อนไม่เข้าเรื่อง โจโฉในยุคสามก๊กปลายราชวงศ์ฮั่น汉ก็เคยกล่าววิจารณ์ซางโจ้วในแง่นี้ เขาบอกว่า คนเป็นผู้นำสงครามในเมื่อรู้ตัวว่าฆ่าคนผิดไป ก็ต้องฆ่าให้หมดอย่าให้เหลือ ส่วนการปรับปรุงตัวเองให้ใจเย็น ต้องเป็นเรื่องที่แก้ไขภายหลัง ไม่ใช่ฆ่าบ้างปล่อยบ้างแบบนี้ เมื่อจีฟาและพ่อซ่องสุมกำลังได้เต็มที่แล้ว จึงเริ่มประกาศปฏิญามู่เหย่ ณ ทุ่งมู่เหย่ โดยมีเนื้อหาประนามวิสัยทรราชย์ของซางโจ้วทั้งหมด 6 ข้อ (ไม่ใช่70กว่าข้ออย่างที่คนรุ่นหลังปรุงแต่ง) กองทัพธรรมของจีฟานอกจากกองทัพของตัวเองแล้วยังประกอบด้วยเหล่าขุนศึกจากหลายตระกูใหญ่ที่เคยถูกซางโจ้วลงโทษและยังมีประเทศราชที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในตอนนั้น ยกทัพประชิดนครเฉาเกอที่ซางโจ้วพำนับอยู่ทันที

*จุดเปลี่ยนของสงคราม
เมื่อสืบค้นจากทั้งบันทึกและร่องรอยสถานที่ทางประวัติศาสตร์ก็พบว่า นครเฉาเกอซึ่งเป็นศูนย์บัญชาการของซางโจ้วไม่ใช่นครหลวง แต่เป็นหัวเมืองอันเป็นฐานที่มั่นของกองทัพราชวงศ์ซาง ซึ่งใช้ในยามออกศึกพิชิตตงอี๋ ซึ่งเป็นดินแดนทางตะวันออกเฉียงใต้(ฮกเกี้ยนในปัจจุบัน) เป็นหัวเมืองที่ใช้ทำสงครามและพักรักษาทหารบาดเจ็บเป็นหลัก ค่อนข้างไกลปืนเที่ยง ฉะนั้น จะเกิดอะไรขึ้นในเมืองนั้น คนที่เมืองหลวงและเมืองใหญ่อื่นๆยากที่จะรู้ได้ และในช่วงเวลานั้น(บั้นปลายของซางโจ้ว อายุ60แล้ว) ซางโจ้วเพิ่งจะเสร็จจะศึกหนักที่ตงอี๋ เท่าที่มีในบันทึกยุคเดียวกัน ต๋าจี่妲己ก็เป็นลูกสาวเชลยศึกที่ได้มาจากสงครามตงอี๋นี้เอง จึงเป็นไปไม่ได้ที่ ซางโจ้วจะหลงต๋าจี่จนทิ้งการบ้านการเมือง สร้างสระหยกและทำเรื่องบ้าบอคอแตกมากมาย ถ้าจะทำคงต้องทำทั้งหมดที่ว่านี้ให้ครบระหว่างทางเดินทัพกลับเมืองหลวงเลยทีเดียว ด้วยเหตุนี้ ข้อหาหลงนารี ปลิ้นสุรา ฆ่าล้างโรงครัว รวมไปถึงการผ่าท้องหญิงมีครรภ์เพื่อเอาใจต๋าจี่妲己จึงไม่น่าเชื่อถืออย่างยิ่ง

ความจริงในเวลานั้นกองทัพของซางโจ้ว แม้ชนะสงคราม แต่สูญเสียไพร่พลมหาศาล กำลังอ่อนล้า บวกกับเชลยศึกที่กวาดต้อนมาจำนวนมหาศาล ไหนจะรักษาทหารบาดเจ็บ ไหนจะควบคุมเชลยจำนวนมาก ทำให้ไม่อาจรับมือ กองทัพธรรมที่ตระกูลโจวและพันธมิตรก่อตั้งขึ้นได้ทันท่วงที เป็นเหตุให้ต้องใช้กลยุทธโล่ห์มนุษย์ คือการใช้เชลยเป็นกองหน้า โดยให้รางวัลว่าเสร็จศึกแล้วจะปลดปล่อยเป็นไท แต่เสนาเจียงจื่อหยาของฝ่ายตระกูลโจวเป็นนักการทหารที่เชี่ยวชาญไม่แพ้ซางโจ้ว จึงปรับแผนทับหน้าจากการแผนปิดล้อมพื้นที่เป็นการพุ่งเข้าหาใจกลางทัพซางที่จุดเดียว ตีทะลวงกองทัพเชลยพร้อมประกาศปฏิวัติล้มทรราช เป็นเหตุให้เหล่ากองทัพเชลย แปรพักตร์ทันที เมื่อซางโจ้วรู้ตัวว่าทุกอย่างสายเกินแก้จึง กระโดดเข้ากองไฟฆ่าตัวตายทันที เพราะไม่ยอมเสียศักดิ์ศรีเป็นเชลยให้อีกฝ่าย ซึ่งการฆ่าตัวตายของซางโจ้ว บันทึกของทั้งสองฝ่ายบันทึกไว้ตรงกัน และเหตุการณ์นี้ไม่ได้กล่าวถึงสนมต๋าจี่เลย

“ประวัติศาสตร์คือตุ๊กตาที่คนรุ่นหลังจับแต่งตัวได้ตามใจ历史是任人打扮的小姑娘”
การสิ้นสุดของราชวงศ์ซางแง่หนึ่งนำไปสู่ “สูตรล้มเจ้า” ที่ว่าด้วย การสร้างควมเชื่อให้เจ้าเป็นทรราช เพื่อล้มล้างอย่างมีเหตุผลชอบธรรม เพราะฉะนั้น การล้มเจ้าจำเป็นต้องขุดคุ้ยทุกอย่างที่เจ้าผิดพลาด ถ้าขุดคุ้ยแล้วยังไม่พอ ก็จำเป็นต้องตีไขใส่สี บางครั้งเลยเถิดถึงขั้นใส่ร้ายป้ายสีก็มี หลายๆครั้งการกล่าวถึงคุณธรรมของผู้ล้มเจ้าก็เป็นความลักลั่นฉาบฉวย ไม่ได้บริสุทธิ์ใจเสมอไป อย่างกรณีของซางโจ้ว商纣 อาจเคยทำผิดมา6ข้อ แต่ไปๆมาๆ คนราชวงศ์ถัดมาแถมข้อหาให้อีก70ข้อ ความจริงในยุคก่อตั้งราชวงศ์โจว เมื่อจีฟาชนะซางโจ้ว หลังซางโจ้วฆ่าตัวตายในกองเพลิง จีฟาก็ไม่เคยกล่าวถึงซางโจ้วในแง่เสื่อมเสียอีกเลย ส่วนหนึ่งเพราะใน ในสายตาของประชาชนราชวงศ์ซาง ซางโจ้วไม่ได้ชั่วร้ายถึงข้้นนั้น การยัดเยียดข้อหาทรราชต่อไปรั้งแต่จะส่งผลให้เกิดความรู้สึกอคติ จีฟาจึงใช้นนโยบายซื้อใจชาวซางโดยการตั้งเมืองใหม่ให้ชาวซาง(หลังจากยึดเมืองหลวงของซางเป็นของตน) และอนุญาตให้มีการสร้างสุสานตระกูลราชวงศ์ซางตามประเพณี ที่สำคัญ แต่งตั้งบุตรของซางโจ้วขึ้นมาเป็นผู้ครองเมืองใหม่ที่สร้างขึ้น (แต่ภายหลังก็เกิดศึกกลางเมืองและฆ่าบุตรซางโจ้วทิ้งเสีย ด้วยข้อหากบฏ) ถ้ามองกันอย่างเป็นกลาง ความสัมพันธ์ระหว่างจีฟากับซางโจ้ว คือ เป็นคนเก่งทั้งคู่ แต่ชนะเป็นเจ้า ทีใครทีมัน นั่นเอง ส่วนข้อหาทรราชผู้วิตถารนั้น เกิดจากการปรุงแต่งไม่บันยะบันยังของคนรุ่นหลังครับ

คนวางแผนล้มเจ้า ใช้ความชอบธรรม หรือ ใช้เล่ห์เหลี่ยม เป็นเรื่องซับซ้อนซ่อนเงื่อนยิ่งกว่านิยาย ไม่เรียนรู้ประวัติศาสตร์ ก็ไม่อาจรู้เท่าทันกันครับ
สวัดดีจ้ะ (- /i\ -)

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน