เรียนภาษาจีนกับอาจารย์อี้ : วันอาทิตย์ (ตอนที่2) [周日]

อ.อี้ hsk & patจีน

เกร็ดมังกร ตอน วันอาทิตย์ (ตอนที่2) 周日(zhōurì)

ตอนที่แล้ว ผมได้นำเสนอเกี่ยวกับที่มาของคำว่า礼拜(lǐbài)และ星期(xīngqī) ซึ่งมีความหมายว่า สัปดาห์ทั้งคู่ คำว่าวันอาทิตย์ในภาษาจีนจึงสามารถใช้ตั้งแต่คำว่า 星期日(xīngqīrì) 星期天(xīngqītiān) 礼拜日(lǐbàirì) จนถึง礼拜天(lǐbàitiān)และยังทิ้งท้ายไว้ว่า คำที่แปลว่าสัปดาห์ ในภาษาจีนยังมีอีกคำหนึ่ง นั่นคือคำว่า 周日(zhōurì)

สำหรับคนที่เคยเรียนภาษาญี่ปุ่น จะรู้ว่าอักษรคันจิ(อักษรฮั่นในระบบภาษาญี่ปุ่น) คำว่า周(zhōu)แปลว่า “สัปดาห์” แสดงว่า คำว่า周日(วันอาทิตย์) ในภาษาจีนได้รับอิทธิพลจากภาษาญี่ปุ่นใช่หรือไม่? คำตอบคือ ใช่เลยครับ แต่ก็ไม่เชิง…? เอ๊ะ มันยังไงกัน

เรื่องมีอยู่ว่า ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง ชาวจีนก็เริ่มใช้ระบบการนับวันแบบ7วันต่อหนึ่งสัปดาห์ โดยรับอิทธิพลทั้งจากศาสนาพุทธจากอินเดียและโหราศาสตร์แบบเปอร์เชียด้วย ซึ่งยังเป็นที่ ถกเถียงกันอยู่ว่า อินเดียกับเปอร์เชีย ใครเข้ามาก่อนกัน
จากคัมภีร์โหราศาสตร์ฉบับพระโพธิสัตว์มันชูศรีและทวยเทพ《文殊师利菩萨及诸仙所说吉凶时日善恶宿曜经》 แปลและเรียบเรียงโดยพระอาจารย์ปู้คง不空 (สมัยราชวงศ์ถัง) ได้อธิบายหลักวันทั้ง7 ที่ว่าด้วย 七曜者(qīyàozhě)เทพทั้งเจ็ดแห่งดวงดาว (พระอาทิตย์ พระจันทร์…พระเสาร์) และลูกศิษย์ของพระอาจารย์ปู้คงได้เพิ่มเติมเชิงอรรถภายหลังว่า 夫七曜者,所为日月五星下直人间,一日一易,七日周而复始 เทพทั้งเจ็ด หมายถึง พระอาทิตย์และพระจันทร์และอีก5พระดวงดาว ลงมาจุติ สลับหมุนเวียนวันต่อวัน รอบละเจ็ดวัน คำว่ารอบ คือ 周 นั่นเอง แต่ในสมัยราชวงศ์ถัง พจนานุกรมจีนยังไม่ได้กำหนดคำว่า “สัปดาห์” เป็นคำที่ชาวบ้านและหมอดูเรียกกันเอง รู้กันเอง เมื่อสืบทอดไปถึงญี่ปุ่นอักษร周 ถึงจะถูกเพิ่มความหมายว่า “สัปดาห์”
แล้วคำว่า周日วันอาทิตย์ในภาษาญี่ปุ่น กลับมาถูกใช้อย่างแพร่หลายในภาษาจีนได้อย่างไร? คำตอบคือ เกิดขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์ชิงและรัฐบาลแมนจูเลีย(รัฐบาลหุ่นเชิดของลัทธิเผด็จการทหารของญี่ปุ่น) เรื่องของสงครามและการรุกรานจีน ขอไม่พูดถึงในบทความนี้ เดี๋ยวจะน้ำตาท่วมจอ เลือดนองคีบอร์ดกันเสียเปล่าๆมีเรื่องเล่าหลายแบบครับ ถ้าเป็นฝั่งใต้หวันกับฮ่องกง ก็จะอธิบายว่าคนจีนได้รับอิทธิพลจากหนังสือพิมพ์ฮ่องกงและไต้หวันในยุคเชียงไคเช็ค(หลังจากที่ย้ายไปอยู่ไต้หวันแล้ว) แต่ไม่น่าจะใช่ เพราะมีหนังสือพิมพ์และสำนักพิมพ์ในเซี่ยงไฮ้ใช้คำว่า 周日ก่อนหน้านั้นนานแล้ว ตั้งแต่ปลายราชวงศ์ชิง เหตุผลคือ เป็นคำที่นิยมใช้ในวงการหนังสือพิมพ์ครับ เพราะระบบเรียงพิมพ์ในสมัยนั้นยังเป็นระบบ อักษรตะกั่ว ผู้เรียงพิมพ์ต้องนำถาดหรือคอลัมป์ที่ทำด้วยไม้เดินไปหยิบอักษรตะกั่วเรียงลงคอลัมป์ทีละตัวๆ ลองคิดดูนะครับ ถ้าเป็นอักษรภาษาอังกฤษยังพอไหว เพราะเกิดจากอักษรA – Z แค่ 26 ตัวเรียงสลับไปมา แต่ถ้าเป็นอักษรจีน ตัวที่ใช้ในชีวิตประจำวันมีอยู่ประมาณ3000-5000ตัว  จินตนาการไม่ยากเลยว่าชั้นวางอักษรตะกั่วต้องใหญ่ขนาดไหน(ที่ผมเคยเห็นในโรงพิมพ์เก่าของเซี่ยงไฮ้สมัยเด็กๆ ก็ เป็นชั้นไม้สูง2เมตร กว้างประมาณ4เมตร จำนวนสิบกว่าแถวต่อ1แท่นพิมพ์นะครับ ^^” oh my god!) ด้วยเหตุนี้ หลายๆคำที่ต้องใช่บ่อย จึงเกิดการ “ย่อ” เช่นคำว่า 星期天 礼拜天 เขาก็ย่อเป็นคำว่า 周日 ตามหนังสือพิมพ์จีนรายใหญ่ที่ควบคุมโดยรัฐบาลแมนจูเลีย บางโรงพิมพ์ พวกคำย่อที่ต้องใช้บ่อย เช่นวันของสัปดาห์ วันที่ ตัวเลข ชื่อคอลัมป์ประจำ เขาจะเก็บไว้บนชั้นว่างพิเศษแยกออกมาเพื่อให้ใกล้มือ หยิบง่าย

ผมยังจำได้ ตอนเด็กๆ คุณแม่ของผมทำงานเกี่ยวกับหนังสือพิมพ์ เป็นคอลัมป์นิสต์ และบางครั้งก็ทำหน้าที่ตรวจแก้ด้วย รอบตัวครอบครัวผมจึงมีบุคคลที่ทำอาชีพด้านการเรียงพิมพ์เยอะพอสมควร และโรงพิมพ์คือที่ๆผมและเพื่อนๆแอบเข้าไปผจญภัยอยู่บ่อยๆ ในช่วงปี1986 – 1993(โดยประมาณ) โรงพิมพ์เก่ายังพอมีให้เห็นตามหน่วยงานราชการ บางแห่งเป็นโรงงานใหญ่เลย เด็กๆอย่างพวกเราจะแอบเข้าไปเก็บตัวอักษรตะกั่วที่เจ้าหน้าที่ทำหล่นไว้ ถ้าใครที่เก็บอักษรที่เป็นแซ่ของเราหรือชื่อเล่นของเราได้ เราก็จะพยายามเอาอักษรตะกั่วที่เรามีไปขอแลกกับเขา ซึ่งบางครั้งก็เกิดการโก่งราคากันบ้าง เช่น1แลก3 หรือไม่ก็1แลก10ก็มี หรือบางคนโก่งราคากันจนเราแอบสาบแช่งในใจเลยก็มี

ผมเคยถามลุงคนหนึ่งในโรงพิมพ์ว่า ทำไมไม่เก็บคำว่า星期天 ไว้ชุดหนึ่งใช้ตลอดจะได้ไม่ต้องหยิบไปหยิบมาทุกวัน คำตอบคือ ไม่ได้หรอก เพราะ คำว่า星กับคำว่า期 เป็นตัวอักษรที่ใช้บ่อย บางวันอักษรตะกั่วที่เก็บไว้จะไม่พอใช้ เช่นหนังสือพิมพ์หนึ่งฉบับ อาจจะต้องใช้คำว่า 星 ในบทความทุกอันพร้อมกัน วันละ20-30คำ เช่นคำว่า明星ดารา 歌星นักร้อง ต้องใช้ซ้ำกันหลายคอลัมป์แน่ๆ ถ้าโรงพิมพ์เล็กๆ อาจจะมีสำรองอักษรหัวตะกั่วไม่พอ ฉะนั้นอะไรที่ย่อได้ ก็ย่อเลย เช่น คำว่าวันอาทิตย์เขียนเป็น周日ตามหนังสือพิมพ์หัวหลักๆในท้องตลาด(ซึ่งคนสมัยนั้นเขาก็ไม่รู้หรอกว่าจริงๆเเล้วเป็นวิธีเขียนเเบบญี่ปุ่น) พวกหนังสือพิมพ์ก็จะนิยมใช้

ถามว่าแล้วรอได้ไหม? เช่นรอให้พิมพ์คอลัมป์อื่นที่ใช้คำว่า星期日เสร็จก่อนแล้วค่อยเอาอักษรตะกั่วที่ว่างแล้วมาใช้ ก็ไม่ได้อีก เพราะหนังสือพิมพ์ต้องออกวันต่อวัน ฉะนั้นทุกคอลัมป์ต้องขึ้นแท่นพิมพ์พร้อมกัน (เเล้วทุกคอลัมป์ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการบอกวันเสมอซะด้วยซิ ฉะนั้น คำว่า วันจันทร์ ถึง วันอาทิตย์ มันต้องใช้พร้อมกันทุกคอลัมป์ จะมาทำอันนี้ก่อน พออักษรตะกั่วว่างแล้วค่อยไปลงคอลัมป์อื่นก็ไม่ได้ เพราะเครื่องจักรมันต้องพิมพ์พร้อมกัน จะมาว่างบางคอลัมป์ไว้พิมพ์เพิ่มที่หลังก็ไม่ได้อีก มันก็ต้องมีวิธีย่อกันบ้าง พอย่อกันไปย่อกันมากลายรูปเเบบภาษาเขียนไปเลย โดยที่บางคนก็ไม่เคยไปสนใจว่า จริงๆเเล้วคำนี้มาจากภาษาญี่ปุ่น

อาชีพเรียงพิมพ์ในสมัยก่อนไม่ใช่ใครก็ทำได้นะครับ ต้องเป็นคนที่มีความรู้ อ่านหนังสือออกและทำหน้าที่เป็นคนตรวจแก้ในยามจำเป็นด้วย เช่นสมมติกรณี อักษรตัวใดที่สำรองหมด ก็ต้องหาวิธีแก้ประโยคให้เป็นประโยคที่ใช้อักษรตัวอื่นแต่ได้ความหมายเนื้อหาคงเดิม ถ้าเป็นราชการ จะกำหนดไว้ว่า ขั้นต่ำก็ต้องเป็นบุคลากรระดับ6 (จาก 10 ระดับ)

แล้วถ้าเลี่ยงไม่ได้จริงๆ ต้องใช้อักษรตัวนั้น แต่ดันหมดไม่มีสำรองจะทำอย่างไร ก็มีวิธีสุดท้ายครับ วิ่งไปที่โรงกลึงเลยครับ กลึงอักษรตัวนั้นเพิ่ม (ฮ่วย…) เขาทำอย่างนั้นจริงๆครับ ทุกโรงพิมพ์จะมีโรงกลึงอักษรตะกั่วอยู่ข้างๆ หรือถ้าเป็นโรงพิมพ์เล็กๆก็จะอยู่กันเป็นชุมชน โดยมีโรงกลึงอยู่ใกล้ๆ ในรัศมีที่วิ่งสิ่งของกันได้ทันที หรือถ้าเป็นโรงพิมพ์เล็กๆที่ทำแต่ใบปลิว ฉลากสินค้า ก็จะมีเครื่องกลึงของตัวเองเพื่อเอาไว้กลึง “ตัวอักษรพิเศษ”เพื่อเป็นอาร์ตเวิร์คเฉพาะงานไป

สวัสดี…
อ้าว จบห้วนๆงี้เลยหรือ? ครับ ครบ1A4 แล้วครับ(เกินมานิดหน่อยด้วย 555) แต่เรื่องราวสนุกสนานของ “วันอาทิตย์” ยังไม่จบนะครับ ไว้ติดตามต่อในตอนที่3 ซึ่งเป็นตอนจบ (คาดว่า…) วันนี้ สวัสดีครับ

คำศัพท์แถมท้าย

  • 铅字(qiānzì)อักษรตะกั่ว
  • 铅字排版(qiānzìpáibǎn) การเรียงพิมพ์ด้วยอักษรตะกั่ว
  • 排版员(páibǎnyuán) เจ้าหน้าที่เรียงพิมพ์
  • 版(bǎn)ต้นฉบับ
  • 胶版(jiāobǎn)แม่พิมพ์/ต้นฉบับแบบยางพารา
  • 胶版印刷(jiāobǎnyìnshuā) ระบบการพิมพ์แบบออฟเซ็ท(พิมพ์ลงบนลูกกลิ้งยางก่อนค่อยถ่ายลงบนกระดาษอีกที)

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน