“ปฏิทินจีน” หรือที่เรามักจะกันทั่วไปว่าเรียกว่า “ปฏิทินจันทรคติ” จริงๆ มีเรียกอยู่ด้วยกันหลายชื่อ คือ
- “夏历” หรือ “ปฏิทินราชวงศ์เซี่ย” ที่เรียกแบบนี้ เพราะเป็นปฏิทินที่คิดค้นพัฒนาขึ้น และเริ่มมีใช้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์เซี่ย (2,100 – 1,600 ปีก่อนคริสต์ศักราช) ถ้านับถึงปัจจุบัน ปฏิทินนี้ก็มีอายุเก่าแก่ตกทอดกันมาถึงเกือบ 4,000 ปีทีเดียว เราจึงเรียกปฏิทินนี้ได้อีกอย่างว่า
- “旧历” หรือ “ปฏิทินเก่า” เพราะอายุอานามอันเก่าแก่ (มาก) ของมันนั่นเอง และเรายังเรียกปฏิทินนี้ว่า
- “农历” หรือ “ปฏิทินการเกษตร” เพราะเป็นปฏิทินที่คิดขึ้นมา เพื่อใช้ประโยชน์ทางการเกษตรเป็นหลัก
“农历” หรือ “ปฏิทินการเกษตร” จัดเป็น “阴阳历” แบบหนึ่ง คือใช้ทั้งการหมุนรอบโลกของดวงจันทร์ (จันทรคติ) และการหมุนรอบดวงอาทิตย์ของโลก (สุริยคติ) มานับคำนวณเป็นจำนวนวันของเดือน และปี
- “ปฏิทินจีน” หรือ “ปฏิทินการเกษตร” นี้ ในส่วนของปฏิทินจันทรคติ (“阴历” หรือ “太阴历”) ถ้าเป็นปีธรรมดา (“平年”) จะมี 12 เดือน*** เดือนใหญ่ (“大月”) มี 30 วัน เดือนเล็ก (เดือนน้อย) (“小月”) มี 29 วัน (เดือนไหนเป็นเดือนใหญ่ หรือเดือนเล็กจะไม่เหมือนกันในแต่ละปี) โดยทั้งปีจะมีจำนวนวันเท่ากับ 354 หรือ 355 วัน ซึ่งจำนวนวันในแต่ละปีโดยเฉลี่ยจะน้อยกว่าในส่วนของปฏิทินสุริยคติ (“阳历”,“太阳历” หรือ “太阳年”) ประมาณ 11 วัน ทำให้ทุกๆ 19 ปี จะมี (การจัด) เดือนอธิกมาส (“闰月”) 7 เดือน ปีที่มีเดือนอธิกมาสนี้จะมีจำนวนวัน (ในหนึ่งปี) ทั้งหมด 383 หรือ 384 วัน
และในส่วนของปฏิทินสุริยคติจะแบ่งปีปฏิทิน (สุริยคติ) (“太阳年”) ออกเป็น 24 ฤดูกาล (หรือเทศกาล) โดยใช้ “天干地支” มาใช้เรียก หรือแบ่งฤดูกาล (เช่น “立春”,“清明” (เช็งเม้ง),“秋分”,“冬至” เป็นต้น) เพื่อความสะดวกในงานกิจกรรมทางการเกษตร ซึ่งทุกๆ 60 ปีจะครบรอบปฏิทินจีนนี้หนึ่งรอบ
เรื่อง “天干地支”, การอ่าน/เขียนวันที่ในปฏิทินจีน ฯลฯ – โอกาสหน้า (เมื่อไรยังไม่รู้) จะมาเขียนอธิบายให้อ่านกันครับ
(ของแถม) – ปฏิทินสากลที่นับตามระบบสุริยคติ เรานิยมเรียกว่า “公历” (คริสต์ศักราช) บ้างก็เรียกว่า “西历” (ปฏิทินตะวันตก) ส่วนของไทย เราก็เรียกว่า “佛历” (พุทธศักราช)
สำหรับคนที่สนใจศึกษาเรื่องปฏิทินจีน ลองหาหนังสือ “ปฏิทิน 100 ปีเทียบ 3 ภาษา” มาดูได้
***ในส่วนของปฏิทินสุริยคติจะแบ่งออกเป็น 24 ฤดู หรือเทศกาล “二十四节气” (24 ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงของฟ้าดิน) เพื่อความสะดวกในการประกอบกิจกรรมการเกษตร มีชื่อเรียกแต่ละฤดู ดังนี้
- “立春” — ช่วงย่างเข้า หรือเริ่ม (ต้น) ฤดูใบไม้ผลิ ตรงกับวันที่ 3, 4 หรือ 5 ของเดือน ก.พ.
- “雨水” — ช่วงน้ำฝน ตรงกับวันที่ 18,19 หรือ 20 ของเดือน ก.พ.
- “惊蛰” — ช่วงเวลาที่สัตว์ (หรือแมลง) ตื่นจากการจำศีล (ช่วงแมลงตื่น) ตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน มี.ค.
- “春分” — ช่วงวสันตวิษุวัต (กลางฤดูใบไม้ผลิ) (ช่วงราตรีเสมอภาคแห่งวสันตฤดู) กลางวันกับกลางคืนในฤดูใบไม้ผลิจะยาวเท่ากัน ตรงกับวันที่ 20, 21 หรือ 22 ของเดือน มี.ค.
- “清明” — ช่วงสว่างใส (เทศกาลเชงเม้ง) ตรงกับวันที่ 4, 5 หรือ 6 ของเดือน เม.ย.
- “谷雨” — ช่วงฝนข้าว ตรงกับวันที่ 19, 20 หรือ 21 ของเดือน เม.ย.
- “立夏” — ช่วงย่างเข้า หรือเริ่ม (ต้น) ฤดูร้อน ตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน พ.ค.
- “小满” — ช่วงข้าวเต็มน้อย ตรงกับวันที่ 20, 21 หรือ 22 ของเดือน พ.ค.
- “芒种” — ช่วงปลูกข้าว หรือข้าวงอกขน ตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน มิ.ย.
- “夏至” — ช่วงครีษมายัน (ช่วงอุตตรายัน) (กลางฤดูร้อน) ช่วงที่กลางวันยาวกว่ากลางคืน ตรงกับวันที่ 21 หรือ 22 ของเดือน มิ.ย.
- “小暑” — ช่วงร้อนน้อย ตรงกับวันที่ 6, 7 หรือ 8 ของเดือน ก.ค.
- “大暑” — ช่วงอากาศร้อนที่สุด (ร้อนมาก) ตรงกับวันที่ 22, 23 หรือ 24 ของเดือน ก.ค.
- “立秋” — ช่วงย่างเข้า หรือเริ่ม (ต้น) ฤดูใบไม้ร่วง ตรงกับวันที่ 7, 8 หรือ 9 ของเดือน ส.ค.
- “处暑” — ช่วงคงร้อน (จบร้อน, สิ้นสุดฤดูร้อน) ตรงกับวันที่ 22, 23 หรือ 24 ของเดือน ส.ค.
- “白露” — ช่วงน้ำค้างขาว ตรงกับวันที่ 7, 8 หรือ 9 ของเดือน ก.ย.
- “秋分” — ช่วงศารทวิษุวัต (กลางฤดูใบไม้ร่วง) (ช่วงราตรีเสมอภาคแห่งฤดูสารท) กลางวันกับกลางคืนในฤดูใบไม้ร่วงยาวเท่ากัน ตรงกับวันที่ 22, 23 หรือ 24 ของเดือน ก.ย.
- “寒露” — ช่วงน้ำค้างหนาว ตรงกับวันที่ 8 หรือ 9 ของเดือน ต.ค.
- “霜降” — ช่วงน้ำค้างแข็งตก ตรงกับวันที่ 23 หรือ 24 ของเดือน ต.ค.
- “立冬” — ช่วงย่างเข้า หรือเริ่ม (ต้น) ฤดูหนาว ตรงกับวันที่ 7 หรือ 8 ของเดือน พ.ย.
- “小雪” — ช่วงหิมะ (ตกเล็ก) น้อย ตรงกับวันที่ 22 หรือ 23 ของเดือน พ.ย.
- “大雪” — ช่วงหิมะตกหนัก (หิมะมาก) ตรงกับวันที่ 6, 7 หรือ 8 ของเดือน ธ.ค.
- “冬至” — ช่วงเหมายัน (ช่วงทักษิณายัน) (กลางฤดูหนาว) ช่วงที่กลางคืนยาวกว่ากลางวัน ตรงกับวันที่ 21, 22 หรือ 23 ของเดือน ธ.ค.
- “小寒” — ช่วงอากาศหนาว (เย็นเล็ก) น้อย ตรงกับวันที่ 5, 6 หรือ 7 ของเดือน ม.ค.
- “大寒” — ช่วงอากาศหนาวมาก ตรงกับวันที่ 20 หรือ 21 ของเดือน ม.ค.
(ข้อมูลอ้างอิง : (โดยเฉพาะคำแปลภาษาไทย) จากหนังสือ “ภาษาจีนสำหรับผู้เริ่มต้นใน 3 ก้าว เล่ม 2” โดย 黄观云、陈伟光 และ “คู่มือคำทับศัพท์ จีน – ไทย” ของ อ.ยงชวน มิตรอารี)
โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese