Tag Archives: ไวยากรณ์ภาษาจีน

ภาษาจีน “等”、”等等” และ “什么的”

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

 

หลายคนคงคุ้นเคยกับคำว่า “等” หรือ “等等” กันมาบ้าง เวลาอ่าน หรือพูดภาษาจีน เราก็มักจะใช้อยู่บ่อยๆ ใช้ไปใช้มาก็อดจะสับสนว่า เมื่อไรควรจะใช้ “等” เมื่อไรควรจะใช้ “等等”

วันนี้ เราจะมาดูกฎเกณฑ์วิธีการใช้คำ 2 คำนี้ รวมทั้งคำว่า “什么的” ด้วย จะได้หายงงซะที (หรือจะงงยิ่งกว่าเดิม???)

1. “等” และ “等等” ใช้ได้ทั้งในภาษาพูด และภาษาเขียน ส่วน “什么的” ใช้เฉพาะในภาษาพูดเท่านั้น

(ถ้าเปรียบเทียบเฉพาะ “等” กับ “等等” — “等” จะพบ หรือนิยมใช้ในภาษาเขียนมากกว่า ส่วน “等等” มักพบในภาษาพูดมากกว่า อันนี้เป็นรายละเอียดเล็กๆ ให้จำแค่กฎเกณฑ์สำคัญ หลักๆ ก็พอ คือใช้ได้ทั้งในภาษาพูด และภาษาเขียน)

2. หลัง “等” สามารถตามด้วยคำ หรือวลีบอก (หรือสรุปท้าย) สิ่งต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมาได้ ส่วน “等等” โดยทั่วไป จะไม่ตามด้วยคำ หรือวลีบอก (หรือสรุปท้าย) สิ่งต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมา ส่วน “什么的” จะวางท้ายประโยคเท่านั้น (ข้างหลังจะมีส่วนประกอบอื่นอีกไม่ได้) ตัวอย่างเช่น

  • 水、电、暖气、煤气等设备的检修工作均已完毕。(มี “设备” สรุปท้าย)
  • 青年人积极、热情、有朝气 (zhāo qì)、肯于学习、接受新事物快等等,这些都是难能可贵的优点。(หลัง “等等” ไม่มีคำ หรือวลีสรุปท้าย)

3. เมื่อยกตัวอย่างชื่อเฉพาะ หรือวิสามัญนาม (专有名词) (เช่น ชื่อคน, ชื่อสถานที่ เป็นต้น) ต้องใช้ “等” เท่านั้น จะใช้ “等等” และ “什么的” ไม่ได้ เพราะ (คนจีนถือว่า) สื่อถึงความไม่สุภาพ โดยเฉพาะเมื่อยกตัวอย่างชื่อคน อาทิเช่น

  • 学习结束后,我们将西安、四川等地旅游。(ชื่อสถานที่)
  • 唐代著名的诗人有李白、杜甫、白居易等。(ชื่อคน)

และเมื่อ “什么的” ใช้ในภาษาพูด สิ่งต่างๆ ที่ยกตัวอย่างมากล่าวถึงจึงมักเป็นเรื่องธรรมดาสามัญทั่วๆ ไป เช่น

  • 我刚买了些啤酒、火腿、面包什么的,咱们一起吃吧。

4. ถ้ายกตัวอย่างเพียงสิ่งเดียว เรื่องเดียว ต้องใช้ “等” หรือ “什么的” เท่านั้น จะใช้ “等等” ได้ ต้องยกตัวอย่างอย่างน้อย 2 สิ่งขึ้นไป ตัวอย่างเช่น

  • 雅典 (Athens) 等城市输出的精美的手工艺品,都是奴隶血汗的结晶。 (ตัวอย่างเดียว)
  • 妻子在家做饭什么的,丈夫在外打工什么的,日子过得倒也蛮好。 (ตัวอย่างเดียว)
  • 思想、意识等等是主观的东西,做或行动是主观见于客观的东西。 (2 ตัวอย่าง)

5. เราสามารถใช้ “等等” ซ้ำคำ กลายเป็น “等等, 等等” ได้ (อย่าลืมเครื่องหมาย “,” ระหว่างกลางด้วย) ถ้าต้องการสื่อว่า สิ่งที่ยกตัวอย่างยังมีอีกเป็นจำนวนมาก หรือมีนัยสื่อถึงสิ่งที่กล่าวถึงนั้นมีเป็นจำนวนมาก (很多) และในบางกรณี “等等” ยังวางหลัง “如此” ได้ด้วย เช่น

  • 除了这些正在受罪的人以外,长廊两侧还摆着压杠、老虎凳、皮鞭、竹钎、手铐、脚镣,等等,等等。
  • 这个说 “离铁矿太远了”,那个说 “附近没有水源”,还有的说 “交通也很不方便”,如此等等。…… (แปลเป็นไทยก็ประมาณว่า “เช่นนี้เป็นต้น”)

6. “等” ยังสามารถตามด้วยตัวเลขที่เป็นจำนวนรวม (เท่ากับ) สิ่งต่างๆ ที่ยกตัวอย่าง หรือกล่าวถึงได้ด้วย เช่น

  • 我国古代有造纸、印刷术、指南针、火药等四大发明。
  • 中国有北京、上海、天津、重庆等四个中央直辖市。

การใช้ 安静, 宁静, และ 平静

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

เวลาพูดถึงสภาวะ “เงียบสงบ”, “เงียบสงัด”, “ไร้สุ้มเสียง” ฯลฯ เรามักนึกถึงคำว่า “安静” ก่อน … เพราะนักเรียนภาษาจีนส่วนใหญ่มักได้เรียนรู้คำคุณศัพท์คำนี้ก่อนคำอื่น นอกจาก “安静” แล้ว ภาษาจีนยังมีคำศัพท์อื่นที่ใช้บรรยายสภาพ สภาวะนี้ได้อีก … Love Chinese ตอนนี้จะว่าถึงเรื่องนี้โดยเฉพาะ

1. “安静”、”宁静” และ “平静” ทั้ง 3 คำนี้ เป็นคำคุณศัพท์ (形容词) ทั้งหมด มีความหมายว่า “เงียบสงบ”, “สงัด”, “ไร้ซุ่มเสียง”, “ไม่เคลื่อนไหว” (静) ทั้งสิ้น แต่ทั้ง 3 คำมีจุดเน้น และวิธีการใช้ที่แตกต่างกัน เรามาดูกันเลย

  • “安静” และ “宁静” ใช้บรรยายสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ ไม่มีเสียง ถ้าเปรียบเทียบกัน “宁静” จะเงียบสงบกว่า “安静” เล็กน้อย
  • “安静” จะเน้นที่ “ไม่มีเสียงรบกวน”, “ไม่มีเสียงดังอึกทึกคึกโครม” มักใช้กับสภาพแวดล้อมที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน หรือมีขอบเขตชัดเจน สถานที่จำเพาะเจาะจงที่ใดที่หนึ่ง
  • “宁静” จะเน้นที่ “ความเงียบสงบ”, “เงียบสงบเป็นพิเศษ”, “ไม่มีเสียง หรือไม่ได้ยินเสียงใดๆ เลยสักนิดเดียว” มักจะใช้กับสภาพแวดล้อมขนาดใหญ่

ลองเปรียบเทียบตัวอย่างกันดู

  • 安静的屋子里,只有我在看书。(เน้นความเงียบสงบ ไม่มีเสียงรบกวน)
  • 宁静的教室里,只听到考生们唰唰地写字声。(ประโยคนี้ใช้ “宁静” ได้ ถ้าต้องการเน้นถึงความเงียบสงบมากๆ ไม่มีเสียงใดๆ นอกจากเสียงขีดเขียน)
  • 阅览室里很安静,同学们都在认真地读书。(สถานที่, สภาพแวดล้อมมีขอบเขตจำเพาะชัดเจน)
  • 宁静的夜空中,只有三三两两的星星在眨着眼。(สภาพแวดล้อมมีขอบเขตกว้างใหญ่)

“平静” จะเน้นสภาพที่ “ไม่เคลื่อนไหว, (เหตุการณ์, สถานการณ์, สภาพแวดล้อม) คงที่” มักใช้บรรยายสภาพแวดล้อม (เช่น น้ำ, ผิวน้ำ) ที่สงบคงที่ ไม่เคลื่อนไหว เช่น

  • 湖面上平静得很,一只小船浮在上面一动也不动。(บรรยายสภาพน้ำ)
  • 外面很平静,不像有敌人打进来的样子。(สภาพแวดล้อมไม่เปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว)

--> ดังนั้น ถ้าเราต้องการบรรยายถึงสภาพแวดล้อมที่ “เงียบสงบ ไม่มีเสียง” จะใช้ “平静” ไม่ได้ เพราะ “平静” จะเน้นที่ “ไม่เคลื่อนไหว” เป็นสำคัญ (ไม่เน้นความเงียบสงบ)

2. “安静”、”宁静”、”平静” นอกจากใช้บรรยายสภาพแวดล้อมแล้ว ยังใช้บรรยายสภาพ หรือสภาวะจิตใจของคน และชีวิตความเป็นอยู่ที่ราบรื่น, ราบเรียบ ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ลุ่มๆ ลอนๆ ฯลฯ สื่อถึง “ความมั่นคงปลอดภัย” (安稳) ในชีวิต บางกรณีใช้แทนกันได้ แต่จุดเน้นต่างกัน

  • “安静” เน้นสภาพจิตใจ หรือชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบ เป็นปกติ มั่นคง (安定)
  • “平静” เน้นสภาพจิตใจ หรือชีวิตความเป็นอยู่ที่สงบ ราบรื่น ไม่ขึ้นๆ ลงๆ ลุ่มๆ ดอน (没有不安和动荡)
  • “宁静” เน้นสภาพจิตใจ หรือชีวิตความเป็นอยู่ที่ราบเรียบ สงบสุขอย่างยิ่ง ไม่มีสิ่งรบกวน ทำให้กังวลใจ (特别地平和,没有一点儿骚扰) แต่ “宁静” จะใช้กับชีวิตความเป็นอยู่มากกว่า (ใช้กับสภาพจิตใจน้อย)

*** โดยสรุป ถ้าใช้กับสภาพจิตใจ เราจะใช้ “平静” เป็นหลัก ถัดมา คือ “安静” ส่วน “宁静” จะใช้น้อยที่สุด เช่น

  • 听了他的事迹,我们激动的心情久久不能平静。
  • 大家好不容易有了这样一个环境,可以平平静静/安安静静的生活了。
    • เน้นสภาพชีวิตที่สงบ ราบรื่น ใช้ “平静”  (平 ราบรื่น)
    • เน้นสภาพชีวิตที่มั่นคง เป็นปกติ ใช้ “安静” (安 ความปลอดภัย)
    • จะสังเกตว่า 2 คำนี้ความหมายค่อนข้างใกล้เคียงกัน จึงใช้แทนกันได้ในบางกรณี ขึ้นกับจุดที่ต้องการเน้น
  • 过了好长时间,他的心情才平静/安静/宁静下来。(ประโยคนี้ ใช้ได้ทั้ง 3 คำ)

—> และถ้าต้องการบรรยายสภาพจิตใจที่ไม่สงบ, วุ่นวาย, สับสน เปลี่ยนสภาพกลายเป็น (จิตใจที่) สงบ เป็นปกติ ไม่มีความกังวลใจ ต้องใช้ “平静” เท่านั้น เช่น

  • 读了妈妈的信,她的心怎么也平静不下来了。

นอกจากนั้น ในบางกรณี “安静” และ “宁静” ยังใช้บรรยายบุคลิกของคนได้อีกด้วย เช่น

  • 他是一个那么安静/宁静的男孩儿。

“平静” ยังสามารถใช้กับทัศนคติของคนที่สบายๆ ไม่เคร่งเครียด, ไม่ตื่นเต้น ฯลฯ

  • 他异常平静地说,“我同意离婚”。

3. ในแง่ไวยากรณ์ หรือวิธีการใช้งาน “安静”、”平静” ใช้ได้ทั้งในภาษาพูด และภาษาเขียน ส่วน “宁静” ใช้ในภาษาเขียนเท่านั้น

“安静”、”平静” ใช้ในรูปการซ้ำคำเป็น “AABB” ได้ แต่ “宁静” ซ้ำคำแบบนี้ไม่ได้ เช่น

  • 安安静静地座。
  • 平平静静地处理问题。

“安静”、”平静” เป็นบทขยายภาคแสดง (状语) และบทเสริม (补语) ได้ ส่วน “宁静” ใช้แบบนี้ไม่ได้ เช่น

  • 孩子总算安静地睡着了。(เป็น 状语)
  • 教室里显得异常安静。(เป็น 补语) (异常安静 เงียบผิดปกติ)
  • 他平静地注视着那几个人。(เป็น 状语)
  • 她表现得很平静。(เป็น 补语)

นอกจากนั้น “安静” ยังเป็นคำกริยา (动词) ได้อีกด้วย เมื่อเป็นคำกริยาจึงสามารถซ้ำคำในรูป “ABAB” ได้ด้วย เช่น

  • 请大家安静一下。
  • 你安静一会儿,好不好?
  • 你们安静安静好吗?我们要休息了?

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : 对、双 – เรื่องของ “คู่” ที่เป็นลักษณะนาม

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

คำว่า “คู่” (สักษณะนาม) ในภาษาจีน มีให้เลือกใช้ 2 คำ คือ “对” และ “双”

2 คำนี้ เมื่อใช้เป็นลักษณะนามจะใช้กับสิ่งของ (รวมทั้งคน) ที่มีอยู่เป็นจำนวน 2 (คน, ชิ้น, อัน ฯลฯ) อาจหมายถึงสิ่งของที่อยู่ด้วยกัน เข้าคู่กัน หรือเป็นคู่กันก็ได้ ปกติจะใช้แทนกันไม่ได้ และมีคำ (หรือสิ่งของ) จำนวนน้อย (มากๆ) ที่ใช้ได้ทั้ง “对” และ “双”

“对” ใช้กับสิ่งของเป็นคู่ (จำนวน 2) โดยสิ่งของนั้น เกิดจากคนทำขึ้น สร้างขึ้น (ให้เป็นคู่กัน) พูดอีกนัยหนึ่ง คือไม่ได้เกิดขึ้น หรืออยู่เป็นคู่กันมาตั้งแต่ดั้งเดิมตามธรรมชาติ

สิ่งของเป็นคู่ที่ใช้ “对” เป็นลักษณะนาม มักเป็นของที่เป็นคู่ตรงข้ามกัน หรือเข้าคู่กัน (เช่น เพศชายหญิง, ตัวผู้ตัวเมีย ฯลฯ) จะเป็นคน, สัตว์, สิ่งของก็ได้ บางกรณียังใช้กับคน หรือสิ่งของประเภท หรือชนิดเดียวกันที่นำมาเข้าคู่ หรือจัดให้เป็นคู่กันได้อีกด้วย ตัวอย่างเช่น

  • 一对夫妇 (คู่สามีภรรยา)
  • 一对男女 (คู่ชายหนุ่มหญิงสาว)
  • 一对金鱼 (ปลาทอง 1 คู่)
  • 一对鸳鸯 (เป็ดแมนดาริน 1 คู่)
  • 一对花瓶 (แจกันดอกไม้ 1 คู่)
  • 一对矛盾 (ความขัดแย้ง 1 คู่)
  • 一对对联 (โคลงคู่ 1 คู่)
  • 一对电池 (ถ่านไฟฉาย 1 คู่)
  • 两对枕头 (หมอน 2 คู่)

“双” ใช้กับสิ่งของเป็นคู่ (จำนวน 2) ที่อยู่เป็นคู่ (ใช้เป็นคู่, มีเป็นคู่ ฯลฯ ) มาแต่ดั้งเดิมตามธรรมชาติอยู่แล้ว มักเป็นสิ่งของที่เกี่ยวข้องกับอวัยวะร่างกายของคน (รวมทั้งสัตว์) หรืออวัยวะที่แบ่งเป็นด้านซ้าย – ขวา

เพราะฉะนั้น ถ้าเปรียบเทียบระหว่าง “对” กับ “双” — “双” จะเน้นจำนวนเลข 2 มากกว่า “对” ตัวอย่างเช่น

  • 一双眼睛 (ดวงตา 1 คู่)
  • 一双手 (มือ 1 คู่)
  • 一双筷子 (ตะเกียบ 1 คู่)
  • 一双翅膀 (ปีกนก/ปีกแมลง 1 คู่)
  • 一双鞋 (รองเท้า 1 คู่)
  • 五双袜子 (ถุงเท้า 5 คู่)

ตามที่กล่าวไปข้างต้นว่า มีคำ (หรือสิ่งของ) จำนวนน้อย (มากๆ) ที่ใช้ได้ทั้ง “对” และ “双” เป็นลักษณะนาม (ดูตัวอย่างข้างล่าง) ข้อแตกต่าง คือ เมื่อใช้ “对” จะเน้นที่ความเป็นคู่ตรงข้าม หรือเข้าคู่กัน (เช่น เพศชายหญิง) แต่ถ้าใช้ “双” จะเน้นที่จำนวนเลข 2 ของสิ่งของนั้นเป็นสำคัญ ตัวอย่างเช่น

  • 一对/双眼睛 (ดวงตา 1 คู่)
  • 一对/双翅膀 (ปีกนก/ปีกแมลง 1 คู่)
  • 一对/双儿女 (ลูกชายหญิง 1 คู่)

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

เมื่อไร … จึงจะใช้ “看看”、”看(一)看” และ “看了看”

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

หลายคนเรียนภาษาจีนมาได้สักระยะหนึ่ง อาจจะงงๆ หรือสับสนเกี่ยวกับการซ้ำคำกริยาในภาษาจีน เช่น 看看、看(一)看 และ 看了看 ว่าควรใช้ยังไง เมื่อไรดี

วันนี้มาดูกันคร่าวๆ พอให้หายงงกันหน่อย

การซ้ำคำกริยา ถ้าเป็นคำกริยาพยางค์เดียว จะซ้ำในรูป AA หรือ A(一)A และ A了A เช่น

  • 看看
  • 看(一)看 (“一”ในวงเล็บ สามารถละไม่พูดได้ หรืออยู่ในรูป AA นั่นเอง)
  • 看了看

ถ้าเป็นคำกริยาพยางค์คู่ จะซ้ำในรูป ABAB และ AB了AB เช่น

  • 介绍介绍
  • 介绍了介绍

การซ้ำคำกริยาจะใช้เมื่อกริยาเกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็ว หรือในเวลาสั้นๆ เราจะใช้ การซ้ำคำกริยาในกรณีใดบ้าง มาดูตัวอย่างการซ้ำคำกริยาคำว่า “看” กัน

1. ถ้าผู้พูด (ตนเอง) ต้องการดู (ทำกริยานั้น) สักครู่ สักหน่อย สักประเดี๋ยว หรือเชิญชวนให้คนอื่นดู (ทำกริยานั้น) สักหน่อย เราจะใช้ 看看 หรือ 看(一)看 และเหตุการณ์ (หรือกริยานั้น) ยังไม่เกิดขึ้น เพื่อสื่อถึงความสุภาพในการสื่อสาร เช่น

  • 请等一下,让我看(一)看。
  • 老师,这是我的功课,请你看(一)看。

2. ถ้าต้องการสื่อถึงการดู (ทำกริยานั้น) อย่างรวดเร็ว และเหตุการณ์ (กริยานั้น) ได้เกิดขึ้นแล้ว จะใช้ 看了看 เช่น

  • 老师拿过我的作业,看了看,很快发现有个错误。

(จะสังเกตว่า หลังกริยา 看了看 มักจะมีกริยาอีกตัวหนึ่ง เกิดขึ้นต่อเนื่องทันที)

3. ถ้าเป็นการดู (ทำกริยานั้น) เป็นประจำ สม่ำเสมอ จะใช้ 看看 เพื่อสื่อถึงการทำกริยานั้นแบบเรื่อยๆ สบายๆ เป็นประจำ ไม่จริงจัง ไม่เป็นการเป็นงาน เช่น

  • 他退休以后,每天看看书,看看报,散散步,过得很愉快。

แต่ถ้าต้องการสื่อถึงการดู (ทำกริยานั้น) ด้วยอาการยุ่ง, จริงจัง เป็นการเป็นงาน เคร่งเครียด ฯลฯ จะซ้ำกริยาไม่ได้ เช่น

  • 他每天很忙,又要看书,又要写文章。

 

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

การใช้ “只是”、”不过”、”可是”、”但是” และ “然而”

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“只是”、”不过”、”可是”、”但是” และ “然而” ทั้งหมด เป็นคำสันธาน (连词)

ใช้เชื่อมข้อความ (ประโยคย่อย, อนุประโยค) ที่มีความสัมพันธ์แบบ 转折 (หมายถึงข้อความ (ประโยค) ส่วนหน้า และส่วนหลัง มีความสัมพันธ์แบบหักมุม, ตรงกันข้าม หรือขัดแย้งกัน)

ข้อแตกต่าง และวิธีการใช้คำสันธานเหล่านี้ คือ

1. ในแง่น้ำหนัก (ความหนักเบา) ของความหมายของความสัมพันธ์แบบ 转折

  • “只是”、”不过” — สื่อ หรือบอกความหมายของความสัมพันธ์แบบ 转折 น้อย (เบา)
  • ส่วน “可是”、”但是”、”然而” — สื่อ หรือบอกความหมายของความสัมพันธ์แบบ 转折 มาก (หนัก หรือชัดเจน) โดยเฉพาะ “然而” สื่อความหมายของความสัมพันธ์แบบ 转折 มาก (หนัก) ที่สุด

ถ้าเรียงลำดับน้ำหนัก (ความหนักเบา) ของ (ความหมายของ) ความสัมพันธ์แบบ 转折 จากมาก (หนัก) ไปหาน้อย (เบา) จะเป็น ดังนี้

  • 然而 > 但是 > 可是 > 不过 > 只是

2. ในแง่การใช้งาน “只是”、”可是” มักใช้ในภาษาพูด “不过”、”但是” ใช้ทั้งในภาษาพูด และภาษาเขียน ส่วน “然而” เป็นภาษาจีนโบราณ (文言) ใช้ในภาษาเขียนเป็นหลัก

3. “只是” ใช้เสริมความ, ขยายความ หรืออธิบายข้อความ (หรือประโยค) ที่อยู่ข้างหน้า ส่วน “不过” ใช้เสริมความ, ขยายความในบางกรณีได้ด้วยเช่นเดียวกัน เช่น

  • 我早想来你这儿看看,只是没有时间。(เสริมความ)
  • 老师很欣赏你的才干,不过他还是希望你在下面多锻炼锻炼。(เสริมความ)

ส่วน “可是”、”但是”、”然而” สื่อ หรือบอกความขัดแย้ง, ตรงกันข้ามของข้อความ (ประโยค) ส่วนหน้า และส่วนหลัง (ดังนั้น) ความสำคัญ หรือสาระที่ (ผู้พูด) ต้องการสื่อจะอยู่ที่ข้อความ หรือประโยคหลัง เช่น

  • 这菜看上去不怎么样,可是吃起来却挺不错。(บอกความขัดแย้ง, ตรงกันข้าม)
  • 她的声音虽然不大,但是却很坚决。(บอกความขัดแย้ง, ตรงกันข้าม)
  • 试验多次被迫停止,然而他们并不灰心。(บอกความขัดแย้ง, ตรงกันข้าม)

ด้วยเหตุนี้ ถ้าเป็นการเสริมความ, ขยายความ หรืออธิบายข้อความ (หรือประโยค) จะใช้ “可是”、”但是”、”然而” ไม่ได้

และถ้าเป็นการสื่อ หรือบอกความขัดแย้ง หรือตรงกันข้ามกัน (ของข้อความ หรือประโยคส่วนหน้า และส่วนหลัง) จะใช้ “只是” ไม่ได้ (ดูตัวอย่างข้างบน)

4. คำที่ใช้ร่วมกัน (เข้าคู่กัน)

เมื่อใช้ “只是”、”不过” น้ำเสียงที่สื่อออกมาจะเบา, ไม่ชัดเจนตรงไปตรงมา (เป็นการสื่ออย่างอ้อมๆ หรือนุ่มนวล) ดังนั้น จะไม่ใช้ร่วมกับ “虽然” และ “却” (ข้อความ หรือประโยคส่วนหน้าจะไม่ใช้ “虽然” และประโยคส่วนหลังจะไม่ใช้ “却”) เช่น

  • 我其实很想去看看那个展览,只是太忙。
  • 她的脾气一向很大,不过现在好多了。

ส่วน “可是”、”但是” น้ำเสียงที่สื่อออกมาจะหนัก, ชัดเจน, ตรงไปตรงมา ดังนั้น มักจะใช้ร่วมกับ “虽然” และ “却” หรือ “还” เช่น

  • 他虽然很忙,可是还是抽出时间来医院看你。
  • 实验虽然被迫停止,但是他并没有停止研究。

ส่วน “然而” ถึงแม้น้ำเสียงจะสื่อความสัมพันธ์แบบ 转折 ชัดเจน แต่ (โดยทั่วไป) จะไม่ใช้ร่วมกับ “虽然” เช่น

  • 条件确实很差,然而没有一个被它吓倒。

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“点儿” กับ “些” จำนวนไหนมากกว่า จำนวนไหนน้อยกว่า

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“点儿” กับ “些” เป็นคำลักษณนาม (量词) ทั้งคู่ ทั้งสองคำ หมายถึงจำนวนที่ไม่แน่นอน “จำนวนหนึ่ง”

ระหว่าง “点儿” กับ “些” ในแง่จำนวน “点儿” จะมีจำนวนน้อยกว่า “些” เช่น

  • 去商店买了点儿吃的。
  • 去商店买了些吃的。
  • 我还有点儿事要跟你商量呢。
  • 我还有些事要跟你商量呢。

“点儿” กับ “些” เมื่อใช้ร่วมกับ “这/那” หรือ “这么/那么” จะกลายเป็นคำสรรพนามชี้เฉพาะ ความหมายของทั้ง 2 คำนี้จะแตกต่างกัน คือ

1.ในด้านความหมาย

1.1 “这些/那些” หมายถึง “จำนวนหนึ่ง” (มากกว่าหนึ่ง แต่ไม่ระบุจำนวนที่แน่นอน) แต่ไม่ได้สื่อ หรือบอกว่าเป็นจำนวน “มาก” หรือ “น้อย” เช่น

  • 这些礼物是送给谁的?
  • 把那些书发给大家。

1.2 “这点儿/那点儿”นอกจากหมายถึงจำนวนน้อยแล้ว ยังเป็นการเน้นจำนวนที่ “น้อยมาก” อีกด้วย เช่น

  • 这点儿饭够谁吃呀?
  • 那点儿活一会儿就干完了。

1.3 “这么些/那么些” ใช้เมื่อผู้พูดต้องการเน้นจำนวนที่ “มาก” เช่น

  • 这么小的车哪儿能坐下这么些人啊?
  • 今天要洗那么些衣服啊。

1.4 “这么点儿/那么点儿” ใช้เมื่อผู้พูดต้องการเน้นจำนวนที่ “น้อยมากๆ” เช่น

  • 这么点儿作业也嫌多,还想不想学了?
  • 怎么就来了那点儿人啊,不是说有十几个人吗?

2.ในด้านการใช้งาน หรือไวยากรณ์

2.1 “点儿” กับ “些” เมื่อวางหลังคำคุณศัพท์ (形容词) หรือคำกริยา (บางคำ) (动词) จะทำหน้าที่เป็นบทเสริม หรือ 补语 หมายถึงจำนวนที่เพิ่มขึ้น หรือลดลง (แล้วแต่กรณี) กรณีนี้ “点儿” กับ “些” สามารถใช้แทนกันได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกัน “些” จะมีความหมาย “หยาบ” กว่า “点儿” เล็กน้อย (หมายถึง “些” ให้ความรู้สึกไม่ชัดเจนเท่า “点儿”) เช่น

  • 贵了点儿/贵了些
  • 高兴点儿/高兴些
  • 放松点儿/放松些
  • 注意点儿/注意些

2.2 หน้า “点儿” สามารถมี “一”、“半” อยู่ได้ หรืออยู่ในรูป “一点儿”、“半点儿” โดยจะใช้ในรูปปฏิเสธ เป็นการเน้นการปฏิเสธทั้งหมด เช่น

  • 爸爸最近忙不过来,一点儿时间也没有。
  • 你怎么半点儿信心也没有?

2.3 “点儿” สามารถใช้ในรูปซ้อนคำ และข้างหน้ามี “一” หรืออยู่ในรูป “一点点儿” หมายถึงจำนวนน้อยมากๆ ได้ด้วย เช่น

  • 就这么一点点儿东西,够我们吃吗?
  • 我只会一点点儿汉语。

2.4 หน้า “些” สามารถมีคำ เช่น “好”、“老” อยู่ได้ หรืออยู่ในรูป “好些”、“老些” หมายถึงจำนวนมาก หรือ “多” นั่นเอง เช่น

  • 外面来了好些人。
  • 吃了好些东西。

2.5 นอกจากนั้น “些” ยังสามารถวางหลัง “某” โดยทำหน้าที่เป็นบทขยายนาม หรือ 定语 ได้ด้วย หมายถึงจำนวนที่ไม่ระบุชัดแน่นอน เช่น

  • 某些公司 (บริษัทบางแห่ง)
  • 某些地区 (บางพื้นที่, พื้นที่บางแห่ง)

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “一点儿” กับ “有点儿”

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ลองมาเปรียบเทียบการใช้ “一点儿” กับ “有点儿” กันดู

1.“一点儿” ประกอบด้วย จำนวน หรือเลข (数词) “一” + ลักษณนาม (量词) “点儿” อยู่ในรูปโครงสร้าง “一” + “ 点儿” หมายถึง “จำนวนที่ไม่แน่นอน (จำนวนหนึ่ง)” (หรือ “(จำนวน) นิดหน่อย”, “เล็กน้อย” ก็ได้) ใช้ขยายคน หรือสิ่งของ หรือเป็น 定语 นั่นเอง เช่น

  • 买一点儿水果。 (ซื้อผลไม้นิดหน่อย — จำนวนหนึ่ง)
  • 学一点儿汉语。 (เรียนภาษาจีนกลางนิดหน่อย)
  • 做一点儿吃的。 (ทำอะไรกินเล็กน้อย)

ส่วน “有点儿”เป็นกริยาวิเศษณ์ (副词) หมายถึง “เล็กน้อย” (稍微) ใช้ขยายคน หรือสิ่งของไม่ได้ แต่ใช้ขยายคำคุณศัพท์ หรือคำกริยา ที่เรียกว่า 状语 นั่นเอง เช่น

  • 有点儿高兴。 (ดีใจนิดหน่อย)
  • 有点儿生气。 (โกรธเล็กน้อย)

2.“一点儿” มักวางหลังคำคุณศัพท์ จะอยู่ในรูป หรือโครงสร้าง “形容词 +(一)点儿” เช่น

  • 你来得早了(一)点儿。
  • 这件衣服贵了(一)点儿。
  • 人多了(一)点儿。

ส่วน “有点儿” วางไว้หน้าคำคุณศัพท์ ในรูป หรือโครงสร้าง “有点儿 + 形容词” เช่น

  • 你来得有点儿早了。
  • 这件衣服有点儿贵。
  • 人有点儿多。

3.ในประโยคเปรียบเทียบ (“比”子句) จะใช้ได้แต่ “一点儿” เท่านั้น เช่น

  • 我比你胖一点儿。
  • 这间屋子比那间大一点儿。

4.“有点儿” มักใช้ในการเลือก (หรือเปรียบเทียบ) ระหว่างคุณสมบัติของสิ่งของ หรือกริยา (การกระทำ) ในความหมายไม่พึงพอใจ, ไม่เป็นไปตามที่ต้องการ (不如意的事情) ดังนั้น คำคุณศัพท์ (形容词) หรือคำกริยา (动词) มักเป็นคำที่มีความหมายในเชิงลบ (消极意义或贬义)

แต่ “一点儿” ไม่มีข้อจำกัดนี้ หมายถึงจะใช้กับคำคุณศัพท์ (形容词) หรือคำกริยา (动词) ที่มีความหมายในเชิงลบ หรือเชิงบวกก็ได้ เช่น

  • 有点儿笨。 (โง่นิดหน่อย — คุณศัพท์ด้านลบ)
  • 有点儿难。 (ยากเล็กน้อย — คุณศํพท์ด้านลบ)
  • 有点儿紧张。 (ซีเรียสเล็กน้อย — คุณศัพท์ด้านลบ)
  • 高兴(一)点儿。 (ดีใจนิดหน่อย — คุณศัพท์ด้านบวก)
  • 这个学生笨了(一)点儿。 (โง่นิดหน่อย — คุณศัพท์ด้านลบ)
  • 别紧张,轻松(一)点儿。 (ผ่อนคลาย, สบายๆ นิดหน่อย — คุณศัพท์ด้านบวก)

5.เมื่อใช้ในรูป หรือโครงสร้าง “有点儿 + 不 + 形容词/动词” คำคุณศัพท์ (形容词) หรือคำกริยา (动词) จะเป็นคำที่มีความหมายในเชิงบวก (积极意义或褒义) เช่น

  • 有点儿不舒服。
  • 有点儿不高兴。
  • 有点儿不懂事。
  • 有点儿不讲道理。

6.“一点儿” และ “有点儿” สามารถใช้เป็นกริยาวิเศษณ์ (副词) ได้ทั้งคู่ แต่ความหมายต่างกัน กล่าวคือ “一点儿” จะใช้ในรูปปฏิเสธ หรือใช้กับคำปฏิเสธ เช่น “不”、“没(有)” เป็นต้น เท่านั้น หมายถึง “ปฏิเสธโดยสิ้นเชิง, ปฏิเสธทั้งหมด” และมักใช้ร่วมกับกริยาวิเศษณ์ “也”、“都”

ส่วน “有点儿” จะใช้ในรูป (ความหมาย) ปฏิเสธ หรือรูปบอกเล่าธรรมดาก็ได้ มีความหมายว่า “เล็กน้อย” เช่น

  • 一点儿也不紧张。
  • 他一点儿也不知道这件事。
  • 有点儿没听懂。
  • 有点儿不高兴。
  • 她总有点儿担心。
  • 妈妈有点儿生气了。

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “以为” กับ “认为”

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“以为” กับ “认为” สองคำนี้ เป็นคำกริยา (动词) ทั้งคู่ หมายถึง “ทัศนคติ”, “ความคิดเห็น” ฯลฯ ที่มีต่อคน หรือเรื่องใดเรื่องหนึ่ง แต่ 2 คำนี้ ใช้แทนกันไม่ได้

“以为” มี 2 ความหมาย

  • ความหมายแรก เหมือนกับ “认为” คือหมายถึง  “คิดว่า”, “เห็นว่า”, “เชื่อว่า” , “มีทัศนคติว่า” ฯลฯ (แต่ถึงแม้ทั้ง 2 คำนี้ จะแปล หรือมีความหมายเหมือนกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่างกันในแง่ความหมาย (นัยยะ) และการใช้งานด้วย — ดูรายละเอียดส่วนถัดไป)
  • ความหมายที่ 2 ของ “以为” หมายถึง ความคิดหรือความเห็นที่  “เข้าใจผิด” (ไปจากความจริง หรือข้อเท็จจริง)”

รายละเอียดปลีกย่อยในข้อแตกต่างของ 2 คำนี้ คือ

1.”以为” เป็น “ความคิด” หรือ “ทัศนคติ” ที่เน้นในแง่อัตวิสัย (主观) เป็นความคิดเห็นเฉพาะบุคคล (มากกว่า) ด้วยเหตุนี้ น้ำเสียงของ “以为” จึงไม่เป็นการยืนยันหนักแน่นชัดเจน

แต่ “认为” เป็น “ความคิด”, “ความเห็น”, “ทัศนคติ” ที่เกิดจากการศึกษาวิเคราะห์, การทำความเข้าใจเป็นพื้นฐาน น้ำเสียงของ “认为” จีงมีความหนักแน่นชัดเจนกว่า เช่น

  • 我以为这样做多少会有些问题。
  • 我认为,人是不能脱离社会而生存的。

*** “认为” สามารถใช้กับเหตุการณ์ หรือเรื่องที่มีความสำคัญ หรือเรื่องทั่วๆ ไปก็ได้ ส่วน “以为” มักจะใช้กับเรื่องทั่วๆ ไปเท่านั้น

ประธาน (主语) ของ “认为” จะเป็น (ความคิดเห็น, ทัศนคติของ) คนๆ เดียว (ส่วนบุคคล) หรือคนบางคนก็ได้ หรือจะเป็น (ความคิดเห็น, ทัศนคติของ) กลุ่มคน, หมู่คณะ, ที่ประชุม (เช่น มติของที่ประชุม, ความคิดเห็นของที่ประชุม), พรรคการเมือง หรือประเทศ ฯลฯ ก็ได้

ส่วนประธาน (主语) ของ “以为” โดยทั่วไปจะเป็น (ความคิดเห็น, ทัศนคติของ) คนๆ เดียว (ส่วนบุคคล) หรือคนบางคนเท่านั้น เช่น

  • 我认为它不会支持讷的。(“我” เป็นประธาน)
  • 大家都认为你做代表比较合适。(“大家” เป็นประธาน)
  • 我们国家历来认为:每个国家都有自己的主权,任何一个国家都不能干涉别国的内政。(“我们国家” เป็นประธาน)
  • 我还以为你不喜欢这本小说呢。(“我” เป็นประธาน)
  • 大家都以为你不来呢。(“大家” เป็นประธาน)

2.”以为” ยังหมายถึง (ความคิดเห็น, ทัศนคติ, การวิเคราะห์, การคาดเดา ฯลฯ) ที่ไม่ถูกต้อง, ไม่รอบด้าน หรือไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง พูดง่ายๆ คือ “เข้าใจผิด” นั่นเอง เช่น

  • 我还以为你早到了呢。
  • 朋友都以为我们俩的关系很好,其实不是那么回事。

ในแง่การใช้งาน หรือโครงสร้างของประโยคประโยคที่ใช้ “以为” มักจะประกอบด้วยประโยคย่อยที่มีความขัดแย้ง (หรือตรงข้าม) กัน คือประโยคแรกจะบอกถึงความคิดเห็น, ทัศนคติที่ผิดไปจากความจริง (ความเข้าใจผิด) ส่วนประโยคหลังจะบอก หรือแสดงถึงความจริง หรือข้อเท็จจริงว่า คืออะไร เช่น

  • 他以为我懂汉语,其实我一句汉语也不会说。
  • 我还以为你会生气呢,没想到你这么高兴。

หรือในบางกรณี ถ้าผู้พูด และผู้ฟังเข้าใจชัดเจน ก็อาจจะพูด หรือกล่าวถึงเฉพาะประโยคย่อยประโยคใดประโยคหนึ่งก็ได้ (ไม่จำเป็นต้องพูด หรือกล่าวถึงประโยคที่ 2) เช่น

  • 我以为你不想去呢。(เข้าใจผิดว่าไม่ไป แต่จริงๆ ไป)

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “其实” กับ “实在”

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“其实” กับ “实在”

  • “其实” เป็นทั้งกริยาวิเศษณ์ (副词) และคุณศัพท์ (形容词) หมายถึง “โดยข้อเท็จจริง”, “ตามความเป็นจริง”, “ความจริง” ตรงกับคำว่า “事实上”
  • “实在” เป็นกริยาวิเศษณ์ (副词) อย่างเดียว แปลว่า “แท้จริง (แล้ว)”, “(เป็น) จริง”, “จริงๆ ” และนอกจากนั้น “实在” ยังมีความหมายเหมือนกับ “其实” (ดูความหมายข้างบน) อีกด้วย

ข้อแตกต่าง คือโดยทั่วไป ในประโยคส่วนใหญ่ เรามักจะใช้ “其实” ส่วน “实在” มักจะใช้วางไว้หน้าคำคุณศัพท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นบทขยาย (状语)

ส่วน “其实” สามารถวางไว้หน้าคำคุณศัพท์ เพื่อทำหน้าที่เป็นบทขยาย (状语) และยังสามารถวางไว้ต้นประโยคของอนุประโยคที่สอง (ประโยคย่อย) เป็นการบอกความสัมพันธ์แบบขัดแย้ง หรือตรงกันข้าม (转折) ได้ด้วย เช่น

  • 你说都懂了,其实并没懂,所以练习都做错了。(ประโยคนี้ใช้ “实在” ไม่ได้)
  • 你看他像中国人,其实他是日本人。(ประโยคนี้ใช้ “实在” ไม่ได้)
  • 他为人实在,所以大家都愿意跟他接近。(ประโยคนี้ใช้ “其实” ไม่ได้)
  • 实在抱歉,我下午有事,不能陪你去。(ประโยคนี้ใช้ “其实” ไม่ได้)

คำ หรือวลีที่มักพอเห็นบ่อยๆ เช่น

  • 其实/实在不难。
  • 其实/实在挺好。
  • 其实/实在不是。
  • 实在的本领。
  • 心眼儿实在。
  • 为人实在。
  • 实在太好了。
  • 实在抱歉。

และ “实在” ยังสามารถใช้ในประโยคอุทานได้ด้วย เช่น

  • 你能带我去,实在太好了!

หมายเหตุ “实在” (shí zai) (วรรณยุกต์เสียง 4) เป็นคำคุณศัพท์ (形容词) ใช้ในภาษาพูด หมายถึง (ทำงาน) ได้ดี, มีฝีมือ, เอาจริงเอาจัง และยังหมายถึง (นิสัยคน) ซื่อๆ ได้อีกด้วย เช่น

  • 你干活儿做得多实在。

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “的”、”地” และ “得” — 3 คำนี้ (บางที) ก็ชวนปวดหัวเหมือนกัน

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“的”、”地” และ “得”  ทั้ง 3 คำนี้ ล้วนเป็นคำเสริมโครงสร้าง (结构助词) และออกเสียงเหมือนกันหมด คือ “de” ต่างกันตรงวิธีการใช้งาน

1. “的” เป็นคำเสริมโครงสร้าง หรือเครื่องหมายของบทขยายนาม (定语) โดย “的” จะวางอยู่หลังบทขยายนาม เพื่อบอกให้รู้ว่า คำ หรือวลีที่อยู่ข้างหน้า “的” คือบทขยายนาม (定语) หรือขยายคำนาม (รวมถึงคำที่มีคุณสมบัติเหมือนคำนาม) หรือจะเรียกว่า “中心语” ที่อยู่ข้างหลัง (ก็ได้)  โดยมีโครงสร้างการเรียงลำดับคำ ดังนี้

  • “บทขยายนาม (定语) + 的 + คำที่ถูกขยาย หรือ 中心语”

ตัวอย่างเช่น

  • 老师的书。
  • 学生的本子。
  • 我的朋友。
  • 明天的会议。
  • 谁的钥匙。

2. “地” เป็นคำเสริมโครงสร้าง หรือเครื่องหมายของบทขยายภาคแสดง (状语) โดย “地” จะวางอยู่หลังบทขยายภาคแสดง (谓语) (เช่น คำกริยา หรือคำคุณศัพท์) เพื่อบอกให้รู้ว่า คำ หรือวลีที่อยู่ข้างหน้า “地” คือบทขยายภาคแสดง (状语) หรือคำที่มีคุณสมบัติเหมือนภาคแสดง (谓语) หรือจะเรียกว่า 中心语 (ก็ได้เหมือนกัน) ที่อยู่ข้างหลัง โดยมีโครงสร้างการเรียงลำดับคำ ดังนี้

  • “บทขยายภาคแสดง (状语) + 地 + คำที่ถูกขยาย หรือ 中心语”

ตัวอย่างเช่น

  • 满满地站起来。
  • 认真地想。

3. “得” เป็นคำเสริมโครงสร้าง หรือเครื่องหมายของบทเสริม (补语) โดย “得” จะวางอยู่หน้าบทเสริม เพื่อบอกให้รู้ว่า คำ หรือวลีที่อยู่หลัง “得” คือบทเสริม (补语) ทั้งนี้ คำที่อยู่หน้า “得” มักจะเป็นภาคแสดง หรือคำที่มีคุณสมบัติเหมือนภาคแสดง (谓语) โดยมีโครงสร้างการเรียงลำดับคำ ดังนี้

  • “ภาคแสดง (谓语) + 得 + คำเสริม (补语)”

ตัวอย่างเช่น

  • 做得好。
  • 做得不(太)好。
  • 好得很。
  • 打得不错。
  • 打扫得干干净净。
  • 忙得连饭都顾不上吃了。
  • 他气得浑身直发抖。

*** นอกจากนั้น “得” ยังสามารถวางอยู่หลังคำกริยา หรือระหว่างคำกริยา (谓语) กับบทเสริม (补语) เพื่อแสดงถึงความเป็นไปได้ (可能) ได้อีกด้วย เช่น 听得懂、听不懂 (รูปปฏิเสธ)

4. ที่กล่าวมา (3. ข้อ) ข้างต้น เป็นวิธีการใช้งานพื้นฐาน หรือทั่วไป นอกจากนั้น ยังอาจมีบางกรณีที่มีการใช้งาน “的”、”地”และ “得” ที่ซับซ้อน หรือปนกันได้ ดังนี้

4.1

  • “คำคุณศัพท์ (形容词) + 的/地 + คำกริยา (动词)”

โครงสร้างนี้ อาจใช้ “的” หรือ “地” ก็ได้ ขึ้นกับว่า คำ หรือวลีนั้น ทำหน้าที่อะไรในประโยค กล่าวคือถ้าทำหน้าที่เป็นภาคประธาน (主语) หรือบทกรรม (宾语) ก็ต้องใช้ “的” แต่ถ้าทำหน้าที่เป็นภาคแสดง (谓语) ก็ต้องใช้ “地” ตัวอย่างเช่น

  • 他科学地论证了这一原理。(”论证” เป็นภาคแสดง)
  • 他对这一原理进行了科学的论证。(”论证” เป็นบทกรรม)

4.2

  • “คำกริยา (动词) + 的/得 + คำ หรือวลีที่มีคุณสมบัติ หรือทำหน้าที่เหมือนภาคแสดง (谓词性词或词语)”

โครงสร้างนี้ อาจใช้ “的” หรือ “得” ก็ได้ ขึ้นกับว่า คำ หรือวลีนั้น ทำหน้าที่อะไรในประโยค กล่าวคือถ้า คำกริยา (动词) + de ทำหน้าที่เป็นภาคประธาน (主语) ก็ต้องใช้ “的” แต่ทำหน้าที่เป็นภาคแสดง (谓语) ก็ต้องใช้ “得”

  • 她唱的很动听。(”唱的” เป็นภาคประธาน)
  • 她唱得很动听。(”唱得很动听” เป็นส่วนหนึ่งของภาคแสดง)
  • 老师说的很有道理。(”说的” เป็นภาคประธาน)
  • 老师说得很有道理。(”说得很有道理” เป็นส่วนหนึ่งของภาคแสดง)

*** นอกจากนั้น “的” ยังสามารถวางหลังคำนาม, คำสรรพนาม, คำคุณศัพท์ หรือวลี ฯลฯ โดยละ หรือไม่จำเป็นต้องมีคำที่ถูกขยาย หรือ 中心语 โครงสร้างคำแบบนี้มีคุณสมบัติ หรือทำหน้าที่เหมือนคำนามคำหนึ่ง เช่น

  • 马路上骑自行车的特别多。
  • 这些东西,好的放在这儿,怀的,把它扔掉。

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese