画饼充饥 [huàbǐngchōngjī] : วาดรูปแป้งทอดแก้ความหิวโหย
画 [huà] วาดภาพ
饼 [bǐng] แป้งทอด
充 [chōng] เติมเต็ม
饥 [jī] หิวโหย
“ฮว่าปิ่งชงจี” คำแปล วาดรูปแป้งทอดแก้ความหิวโหย
ในสมัยสามก๊ก มีชายผู้หนึ่งนามว่า หลูอี้ว์(卢毓 [lúyù]) ซึ่งรับราชการอยู่ในรัฐเว่ย และเนื่องจากเขาได้คอยเสนอแนวคิดในการปกครองที่เป็นประโยชน์ต่ออ๋องเว่ยเหวิ นตี้มากมาย ดังนั้นท่านอ๋องจึงให้ความสำคัญกับเขาอย่างยิ่ง และแต่งตั้งเขาเป็นอัครเสนาบดี
ครั้งหนึ่ง อ๋องเว่ยเหวินตี้กล่าวกับหลูอี้ว์ว่า “รัฐของเราจะมีผู้มีความสามารถมากน้อยเพียงใดขึ้นอยู่กับการคัดเลือกของท่าน จงอย่าเลือกใช้คนที่ชื่อเสียง เพราะผู้ที่มีชื่อเสียงก็เปรียบเสมือนการวาดรูปแป้งทอดลงบนพื้นดิน ได้แต่มองดูไม่สามารถกิน ”
หลูอี้ว์ ตอบว่า “อาศัยเพียงชื่อเสียงไม่สามารถวัดความสามารถของผู้ใดก็จริงแต่ก็สามารถทำให้ ค้นพบผู้ที่มีความสามารถ เพราะคนเราเมื่อมีความสามารถ พฤติกรรมดีก็เป็นธรรมดาที่ย่อมมีชื่อเสียง ซึ่งเราไม่ควรมองข้ามพวกเขาไป ดังนั้นข้าพเจ้าเห็นว่าสิ่งสำคัญคือต้องทดสอบพวกเขา ว่าพวกเขามีความสามารถจริงหรือไม่ ทว่าตอนนี้ไม่มีระบบการสอบเพื่อคัดเลือกคนมีความสามารถ แต่อาศัยเพียงชื่อเสียงของผู้นั้นในการมอบตำแหน่งให้พวกเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง ”
อ๋องเว่ยเหวินตี้เห็นด้วยกับความเห็นของ หลูอี้ว์ และกำหนดให้มีการใช้ระบบการสอบเพื่อเข้ารับราชการ
ปัจจุบัน “画饼充饥 [huàbǐngchōngjī]” ใช้เพื่อเปรียบเทียบกับการวาดมโนภาพขึ้นในใจเพื่อปลอบโยนตนเอง