Category Archives: เรียนภาษาจีนกับอาจารย์อี้

ทำไมอักษรจีนเขียนจากบนลงล่าง ไล่บรรทัดจากขวาไปซ้าย?

อ.อี้ hsk & patจีน

เกร็ดมังกร ตอน ทำไมอักษรจีนเขียนจากบนลงล่าง ไล่บรรทัดจากขวาไปซ้าย?

甲骨文อักษรบนกระดูกสัตว์ 竹简/牍 อักษรที่บันทึกบนม้วนไม้ไผ่ ส่งผลต่อวัฒนธรรมการเขียนภาษาจีนอย่างไร?

หลายคนเข้าใจได้ไม่ยากว่า การเขียนจากบนลงล่างนั้นเพราะ อักษรจีนสมัยเเรกเริ่ม เขียนด้วยวิธี เขียนฝาผนัง เเกะสลักลงกระดูกสัตว์ เเล้วค่อยเปลี่ยนเป็นการเขียนด้วยพู่กัน ซึ่ง การเขียนในเเนวดิ่งย่อมง่ายกว่า เช่น เขียนฝาผนัง ผู้เขียนไม่ต้องเดินกลับไปกลับมา

สามารถเขียนเเนวดิงเสร็จเเถวหนึ่งเเล้วขึ้นเเถวใหม่โดยขยับไปอีกเเค่ก้าวเดียว หรือการเเกะบนกระดูกสัตว์ การกดกระดูกสัตว์ให้ติดกับพื้น/ของเเข็ง ในเเนวตั้ง จะมั่นคงกว่า การกดวางในเเนวนอน(เอามือกดไว้ตรงข้างบนเเล้ว เเกะไล่ลงมาในเเนวดิ่ง) ส่วนการเขียนพู่กัน การเขียนเเนวดิ่งก็เอื้อต่อการเขียนโดยไม่มีเส้นบรรทัดกำกับอยู่เเล้ว

เเต่ทำไมต้องเขียนจากขวาไปซ้ายล่ะ เพราะหลายคนมองว่า ถ้าเขียนจากขวาไปซ้าย เเขนของคนเขียน(ถือพู่กันมือขวา) ก็จะวางทับตัวอักษรที่ตัวเองเขียนไปนะสิ ตัวอักษรก็เลอะพอดี ทำไมไม่เขียนจากซ้ายไปขวา?

ข้อสันนิษฐานของนักวิทยาศาสตร์เเละนักโบราณคดีมีดังนี้ครับ

1.ถ้าเป็นกรณีอักษร甲骨文ที่เเกะลงกระดูกสัตว์ น่าจะเกิดจากการลงหมึกเป็นเเบบอักษรก่อนโดยผู้ที่มีความรู้ เเล้วค่อยให้ช่างฝีมือใช้มีดเเกะตามรอยหมึก เพราะครั้นจะให้ผู้มีความรู้มานั่งเขียนเองเเละเเกะเองคงเสียเวลามาก การเขียนต้องพึ่งความรู้

เเต่การเเกะเป็นงานเเรงงาน ช่างเเกะไม่จำเป็นต้องมีความรู้เยอะ เเค่พออ่านออก ไม่งงก็พอเเล้ว จึงเกิดการเเบ่งหน้าที่กัน ให้นักวิชาการเขียนด้วยหมึก จะเขียนเร็วกว่ามาก เเล้วค่อยให้ ทีมช่างเเกะสลักเเบ่งกันไปเเกะต่อ

มีข้อสันนิษฐานอีกเเบบหนึ่งคือ ในยุคโบราณ การอ่านไล่จากขวาไปซ้ายหรือซ้ายไปขวา ง่ายพอๆกัน เพราะตัวหนังสือมีขนาดใหญ่เละตาไม่จำเป็นต้องก้มใกล้กับตัวหนังสือมาก ที่สำคัญ การบันทึกอักษรในยุคเเรกๆส่วนมากเกิดขึ้นในพิธีกรรมทางความเชื่อ

เช่นบันทึกคำทำนาย คำพยากรณ์ของหมอผีเป็นต้น ฉะนั้น คนออกเเบบวิธีอ่านจึงคำนึงถึงขนบธรรมเนียมประเพณีเป็นหลัก ซึ่งคนจีนโบราณยึดถือ ฟ้าอยู่เหนือ ดินอยู่ล่าง ขวาเป็นหลัก ซ้ายเป็นรอง สิ่งศักดิ์สิทธิ์จึงเรียงจากขวาไปซ้าย (บางความเชื่อที่มีการเีรียนจากซ้ายไปขวาเกิดขึ้นในภายหลัง) ฉะนั้น การเขียน/บันทึกข้อความในพิธีกรรม ต้องไล่จากบนลงล่าง ขวาไปซ้ายเสมอนั่นเอง จึกกลายเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติกันมา

เมื่อเป็นเช่นนี้ ย่อมจำเป็นต้องเเกะจากขวามาซ้ายครับ เพราะถ้าเเกะจากซ้ายมาขวา สันมือของช่างก็จะไปโดนหมึกตัวอักษรที่อยู่ข้างขวาตลอดเวลา ตัวหนังสือก็จะถูกลบหรือถูกทำเลอะอย่างเเน่นอน ฉะนั้นต้องเเกะจากขวามาซ้าย สันมือก็จะไม่โดยหมึกตัวอักษรที่ยังไม่เเกะ จึงเป็นที่มาของ วิธีเเบบ บนลงล่าง ขวาไปซ้าย นั่นเอง

2.ในกรณีของม้วนอักษรไม้ไผ่竹简/牍 ซึ่งเขียนด้วยหมึกล้วน ไม่มีการเเกะสลัก ทำไมยังเขียนจากขวาไปซ้ายล่ะ? คำอธิบายคือ ในความเป็นจริง ในระยะเเรกของการคิดค้นม้วนอักษรไม้ไผ่ คนโบราณจะเขียนเป็นซี่ๆก่อน เเล้วค่อยเอาซี่ไม้ไผ่มาร้อยเป็นเล่มภายหลังครับ เพราะในระยะเเรกอาจจะยังไม่มีกรรมวิธีป้องกันการขึ้นราของไม้ไผ่ ถ้าร้อยไว้ตั้งเเต่เเรก เกิดมีซี่หนึ่งดันขึ้นรา ก็จะต้องเอาออก ร้อยเข้าไปใหม่ เสียเวลาโดยใช่เหตุ

เเละอีกประการคือ เอาเข้าจริงๆ ผู้เขียนบางครั้งก็ไม่รู้ว่า ต้องเขียนมากหรือน้อยเเค่ไหน ถ้าบทความสั้นมาก เเต่ม้วนไม้ไผ่ดันยาว ก็เหลือพื้นที่ว่างเปล่า กลายเป็นความสิ้นเปลือง ฉะนั้น การเขียนยุคเเรกจะเป็นการ เลือกเเผ่น/ซี่ไม้ไผ่มาเขียนทีละซี่ โดยเเผ่นเเรกกับเเผ่นสุดท้ายมีเครื่องหมายกำกับไว้ด้านหลัง (ส่วนซี่ระหว่างบทความไม่ต้องทำเครื่อหมาย

เพราะเนื้อหาที่เขียนลงไปมันต้องเชื่อมต่อกันอ่านรู้เรื่องอยู่เเล้ว) ฉะนั้นกว่าจะเป็นหนังสือหนึ่งเล่มมันจะผ่านกระบวนการ 2 ขั้นตอน คือ เขียนเป็นซี่ๆ เเล้วค่อยร้อยเป็นเล่มๆ

การเขียนเป็นซี่ย่อมต้องเขียนจากบนลงล่าง เพราะสะดวกเเก่ผู้เขียนเเละควบคุมความบรรจงเเละความสวยงามได้ง่าย

ส่วนเย็บเล่ม ผู้เย็บเล่มก็คำนึงถึง วิธีการคลี่อ่านเป็นหลัก ซึ่งคนส่วนใหญ่ถนัดขวา ใช้มือข้างที่ถนัดจับม้วนไม้ไผ่ไว้(ม้วนไม้ไผ่ค่อนข้างหนัก)ให้มั่นคง เเล้วใช้มือซ้ายคลี่เบาๆ ก็อ่านได้ถนัดเเล้วครับ ด้วยเหตุนี้ ผู้เย็บเล่มเขาก็ต้องเย็บบรรทัดเเรกให้อยู่ข้างขวาโดยปริยาย เป็นที่มาของการไล่บรรทัดจากขวาไปซ้ายในภาษาจีน

ส่วนการเขียนจากซ้ายไปขวา ไล่บรรทัดจากบนลงล่างตามหลักสากลนั้น เกิดขึ้นในยุคหลังราชวงศ์清 เป็นยุคที่เลิกใช้พู่กัน เเต่ใช้ดินสอกับปากกา กระดาษมีน้ำหนักเบาใช้มือซ้ายกดไว้เบาๆก็สามารถลากเส้นจากซ้ายไปขวาได้สบายๆ เเละการเขียนตามเเนวขวางก็สบายตากว่า เพราะการใช้ดินสอปากกาเขียนหนังสือ ระยะการมองระหว่างตากับกระดาษมันใกล้มาก ถ้ายังอ่านจากบนลงล่างจะปวดตาเเละตาลายได้ง่ายๆครับ

ประมาณนั้น สวัสดี(-/i\-)

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน

ความหมายของ 春秋

อ.อี้ hsk & patจีน

春秋 [chūnqiū] ใบไม้ผลิเเละใบไม้ร่วง เเละยังมีความหมายอื่น คือ 1ปี

ในเชิงประวัติศาสตร์ ก่อนราชวงศ์ฉินก็มียุคที่เรียกว่า 春秋战国 [chūnqiū zhànguó] (ยุคชุนชิว-จ้านกั๋ว) ชุนชิว 春秋 เป็นยุคเเห่งความรู้เเละการโต้วาทะ เหตุที่ได้ชื่อว่ายุคชุนชิว 春秋 เพราะคำโบราณคำว่า 春秋 ยังสามารถเเปลว่า “การบันทึก” นั่นหมายความว่า เป็นยุคเเห่งการบันทึกความรู้ ยุคที่ให้ความสำคัญกับปัญญาชน ส่วนยุค 战国 คือยุคเเห่งสงครามเเว่นเเคว้น (คำว่าจ้าน 战 เเปลว่าสงคราม/การรบ)

เรื่องย่อมีอยู่ว่า ช่วงปลายราชวงศ์โจว 周 เเผ่นดินจีนมากด้วยนักปราชญ์ปัญญาชน นิยมเอาชนะด้วยเหตุผลมากกว่าใช้กำลัง เเต่เมื่อนานวันเข้า การถกเถียงกลายเป็นความบาดหมาง เหล่าขุนศึกที่รอโอกาสมานานก็อาศัยการปลุกระดม ทำลายความอดทนของสังคม ประกาศสงคราม เข้าสู่ยุคของความวุ่นวาย กลายเป็นยุคที่โจรเป็นเจ้า เจ้าเป็นหุ่นเชิด เเละท่ามกลางความวุ่นวาย ผลสุดท้าย เหล่าขุนศึกโจรที่อยากจะเป็นเจ้าเสียเองก็ต้องเจอกับมหาโจรที่ชื่อ หยิงเจิ้ง 赢政(เจ้าชายเเห่งเเคว้ยฉิน秦) หยิงเจิ้งโค่นหกเเคว้น ก่อตั้งประเทศเเห่งศูนย์กลาง(中国) กลายเป็นฮ่องเต้องค์เเรกในเเผ่นดินจีน นาม秦始皇帝(ฉินสื่อหวางตี้/จิ๋นซีฮ่องเต้)

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เมื่อใดก็ตามที่คนหมู่มากเขลาความรู้ ไม่เห็นคุณค่าของการศึกษาเเละการหารือถกเถียงด้วยสติปัญญา ก็เป็นโอกาสของโจรบ้าพลัง สุดท้าย ประเทศวุ่นวาย เเละลงเอยด้วยการถือกำเนิดของมหาโจร …เสร็จโจรล่ะทีนี้

เเละในโลกนี้น้อยนักทีมหาโจรจะคิดสร้างสรรค์ จิ๋นซีฮ่องเต้ยึดวิถีแบบมหาโจรผู้เหี้ยมโหดเกือบตลอดชีวิต คิดสร้างสรรค์สร้างเเผ่นดินใหม่เพียงไม่นานก็ถึงเเก่กรรม โจรกลับใจตอนเเก่เช่นนี้ก็เป็นเเค่ตัวอย่างหนึ่งในร้อยที่เกิดขึ้นบนโลกนี้ฉันใด

ฉันนั้น การฝากความหวังไว้กับโจรก็เป็นเรื่องโง่เขลา

  • 春季 [chūnqiū] ฤดูใบไม้ผลิ
  • 季节 [jì jié] ฤดูกาล
  • 赛季 [sài jì] ฤดูกาลเเข่งขัน
  • 联赛 [liánsài] การเเข่งขันเเบบสมาพันธ์ / การเเข่งขันลีค เช่น 英格兰足球超级联赛 [yīnggélán zúqiú chāojí liánsài] การเเข่งขันพลีเมียลีคเเห่งอังกฤษ

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน

เข้าใจสุภาษิตจีนจากเลข 1 ถึง10 (一五一十 话说成语)

อ.อี้ hsk & patจีน

จากคณะผู้ก่อการ HSK ตอน 一五一十 话说成语 เข้าใจสุภาษิตจีนจากเลข1 ถึง10

การทำความเข้าใจคำสุภาษิตจีนไม่ใช่การท่องจำความหมายเพียงอย่างเดียว เพราะคำสุภาษิตจีนมักทำหน้าที่เป็น “คำจำกัดความ” เพื่ออธิบายสถานการณ์ หรือ เพื่อเป็นตัวอย่างเตือนสติคนเรา อักษรเพียง4ตัวย่อมไม่ได้หยิบจับมาเพื่อให้ครบความเท่านั้น วันนี้เรามาดูตัวเลข 1ถึง10 ว่ามีความสำคัญต่อ “การจำกัดความ” ของสุภาษิตจีนอย่างไร ดูในภาพ

เลข 1-4 มักสื่อถึงความเป็นเอกภาพและความแตกแยก/กระจัดกระจาย ตัวอย่างเช่น :

  • 一心一意 (yìxīnyíyì) รักเดียวใจเดียว / ตั้งใจมุ่งมั่นเพื่อสิ่งเดียวเท่านั้น
  • 矢忠不二 (shǐzhōngbùèr) บ่าวดีไม่มีสองนาย
  • 忠心不二 (zhōngxīnbúèr) ซื่อสัตย์จงรักภักดี
  • 三心二意 (sānxīnèryì) สองจิตสองใจ โลเล
  • 不三不四 (bùsānbúsì) นอกลู่นอกทาง เอาดีไม่ได้สักอย่าง
  • 颠三倒四 (diānsāndǎosì) มั่วไปหมด ไร้หลักการ ไร้ทิศทาง
  • 四面八方 (sìmiànbāfāng) มีทุกทิศ หรือ ทั่วสารทิศ

เลข 6, 7, 8 มักสื่อถึงความอลหม่าน มีมากจนไม่อาจควบคุม

  • 三头六臂 (sāntóuliùbì) สามเศียรหกกร ฤทธิ์มาก ควบคุมยาก **(มาจากลักษณะของเทพนาจา ซึ่งเป็นคนเกเรและฤทธิ์มาก)
  • 七嘴八舌 (qīzuǐbāshé) แย่งกันพูดจนฟังไม่ได้ศัพท์
  • 七上八下 (qīshàngbāxià) ตุ้มๆต่อมๆ (ใจเต้นไม่เป็นจังหวะ หมายถึง ว้าวุ่น สับสน)

เลข 9 มักสื่อถึงความเต็มที่ ใกล้ความจริง

  • 八九不离十 (bājiǔbùlíshí) ไม่ใช่ก็ใกล้เคียง สำนวนที่คล้ายกัน 十有九八 ถึงไม่สิบก็มีแปดมีเก้า (มีความเป็นไปได้สูง มั่นใจมาก)
  • 九牛二虎之力 (jiǔniúèrhǔzhīlì) ทำทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ สุดกำลังความสามารถ ประมาณว่าใช้แรงพอๆกับวัวเก้าตัวกับเสืออีกสองตัวมารวมกัน

เลข10 มักสื่อถึงความครบถ้วน

  • 十全十美 (shíquánshíměi) สมบูรณ์แบบ ไร้ที่ติ
  • 一五一十 (yīwǔyīshí) จะนับ 1-5 หรือ 1-10 ก็ครบหมดไม่มีตกหล่นแม้แต่ตัวเดียว (หมายถึงการอธิบายอย่างละเอียด)

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน

ความหมายของ 要紧 / 重要 / 严重 / 无所谓 / 紧张

อ.อี้ hsk & patจีน

(**ข้อสอบPAT7.4 มีนา54 / เทียบเท่าHSKระดับ3-4)

โจทย์:  你放心吧,医生跟我说伯伯的病不要紧。คำว่า 要紧 สามารถเเทนที่ด้วยตัวเลือกใด?
ตัวเลือก: 重要 / 严重 / 无所谓 / 紧张

อันว่า ผู้หญิงไม่ชอบเเสดงความรู้สึก เเต่มีสิทธิ์งอนถ้าไม่ได้สิ่งที่ต้องการ เป็นสัจธรรมของโลก น้องเเพทก็เหมือนกันครับ หลายครั้งที่น้องเเพทไม่ยอมบอกตรงๆ เเต่เราต้องตอบให้ตรงใจน้องเเพท ข้อสอบข้อนี้ วัดความเข้าใจ ไม่ได้วัดการท่องจำ

ถ้าเราใช้หลักท่องจำ เราอาจตอบผิด เพราะ 要紧 มีความหมายครอบคลุมได้ตั้งเเต่ 重要 (สำคัญ), 严重 (ร้ายเเรง), 紧张(เครียด/เร่งรีบ) หรือเเปลว่า 急切 (เร่งรีบ) ก็ยังได้ เเล้วเเต่กรณีครับ

กรณีคำว่า 要紧 เเปลว่า สำคัญ เพราะเป็นรูปภาษาพูดของ 重要 เช่น ถ้าเราบอกว่า ฉันมีเรื่องสำคัญต้องบอกคุณ เราจะพูดว่า 我有重要事情跟你说 / 我有要紧事跟你说

หรืออีกกรณีหนึ่ง 要紧 อาจจะมาจากคำว่า 不要紧 ก็ได้ 不要紧 เเปลว่า ไม่เป็นไร/ไม่เครียด/เรื่องเล็ก (=没关系) ถ้าเเปลตรงตัวเเบบนี้บางคนอาจจะเข้าใจผิดไปไกล คิดว่า 要紧 เเปลว่า เครียด/เรื่องใหญ่ จึง = 紧张 / 急切 ตึงเครียด/เร่งรีบ Continue reading

ความหมายของ 心眼, 干脆, 果断, 耐心

อ.อี้ hsk & patจีน

จีบน้องPAT ซอย7.4 ตอน สำนวนน้องแพท 心眼, 干脆, 果断, 耐心 …
ข้อสอบPAT7.4ประเภทความความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสำนวนเป็นข้อสอบที่ค่อนข้างยากสำหรับนักเรียนม.ปลาย เพราะคำศัพท์สำนวนที่ออกสอบบางครั้งก็ไม่มีในตำราเรียน แต่เกิดจากการผสมกันของคำโดดที่เราเคยผ่านตาในตำราเรียนมากกว่า อาการแรกที่เกิดกับนักเรียนคือ เอ๊ะ คำนี้เคยเห็น…แต่ทำไมอ่านโจทย์ไม่เข้าใจ?

มาดูตัวอย่างข้อนี้ครับ:

请选择下列句子中划线部分的正确解释:
เลือกคำที่มีความหมายตรงกับคำที่ขีดเส้นใต้:
他这个人心眼是好, 就是办事不干脆
1.果断
2.诚实
3.耐心
4.仔细

  • 心眼( xīnyǎn) = จิตใจ (* คำที่ความหมายคล้ายกันและเห็นในข้อสอบบ่อยๆได้แก่ 心肠 (xīncháng) จิตใจ)
  • 就是 (jiùshì) คำนี้ปกติแปลว่า ก็คือ… แต่ในกรณีนี้ เราต้องมองให้ออกมา มันเป็นรูปประโยค

“คำนาม+是好 , 就是+….” หรือ “คำนาม+好是好, 就是+….” ไม่สามารถแปลตรงตัวว่า ก็คือ…
แปลเป็นไทยว่า “…มันก็ดีอยู่หรอก แต่เสียตรงที่…” / “…ก็ดีอยู่หรอก แต่เสียอย่างเดียว…”

รูปประโยค “คำนาม+是好 , 就是+….” หรือ “คำนาม+好是好, 就是+….”

办事 (bànshì) ทำงาน / ทำอะไรก็ตาม / จัดการธุระ

不干脆 (bùgāncuì) ไม่เด็ดขาด 干=แห้ง 脆 = กรอบ แต่เมื่อสองคำรวมกัน กลายเป็นคำว่า “เด็ดขาด” (ประมาณว่า เปรียบเทียมได้กับสิ่งที่แห้งกรอบ ถ้าจะหัก ก็หักแล้วหักดังโป๊ะเลย ไม่มีงอ ไม่มีจังหวะยืดยาด)

  • 他这个人心眼好是好,就是办事不干脆。
    Tāzhègerénxīnyǎnhǎoshìhǎo ,jiùshìbànshìbùgāncuì。
    คนอย่างเขาจิตใจก็ดีอยู่หรอก เสียอย่างเดียวตรงที่ทำอะไรไม่มีความเด็ดขาด

การเข้าใจที่ไปที่มาของสำนวนมันจะสำคัญตรงนี้แหล่ะครับ เมื่อเรารู้ที่ไปที่มาของคำว่า 干脆 (เด็ดขาด มาจากคุณสมบัติแห้งกรอบที่หักแล้วหักเลยไม่มียื้อ) เราก็สามารถเห็นความสัมพันธ์ของคำศัพท์ที่มีลักษรณะที่มาของคำคล้ายคลึงกัน อย่างช้อยส์ข้อ1  果断 (guǒduàn) 果=ผล 断 = ตัดขาด/ตัดสิน รวมความว่า เมื่อรู้ผลก็ตัดสินได้เลย ซึ่งก็แปลว่า “เด็ดขาด” นั่นเอง คำตอบที่ถูกต้องคือ ข้อ1 ครับ

ส่วนช้อยอื่นๆ 诚实 = ซื่อสัตย์ 耐心 = มีความอดทนอดกลั้น(ใจเย็น) 仔细 = ตั้งใจ/ละเอียดละออ

ความรู้เพิ่มเติม คำว่า อดทน ในภาษาจีนมีอยู่หลายคำ แต่ใช้ในสถานการณ์ที่ต่างกัน

  • 耐心 (nàixīn) = มีความอดทนอดกลั้น(ใจเย็น)
  • 耐 = ทนทาน(มีคุณสมบัติทางกายภาพที่แข็งแกร่ง ใช้กับสิ่งของ วัสดุ อุปกรณ์ เช่น 耐用(nàiyòng)คุณภาพทนทาน/ใช้งานได้ดี
  • 忍 (rěn) = อดกลั้น(มีจิตใจที่แข็งแกร่ง หมายถึงทนความเจ็บปวด ทนต่ออารมณ์ )
  • 忍耐 = อดทนอดกลั้น เป็นรูปคำเต็มของ忍(ใช้กับจิตใจ)
  • 撑住 (chēngzhù) = อดทนไว้ / ฝืนไว้/ต้านไว้/อย่ายอมแพ้ เช่น คนกำลังจะตาย เราพยายามบอกเขาว่า “นายต้องอย่ายอมแพ้นะ / อดทนไว้นะ”

เห็นไหมครับว่า การเข้าใจที่มาของสำนวน และ รากศัพท์สำคัญมาก และการทบทวนท่องศัพท์ ควรจะใส่ใจกับคำประสม สำนวน เป็นพิเศษ ถ้าเราท่องแต่คำโดด เวลาเจอสำนวน คำประสม กลุ่มคำ หรือแม้แต่รูปประโยค เราก็จะงงครับ

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน

ความเเตกต่างระหว่างคำว่า 理解 กับ 了解

ความเเตกต่างระหว่างคำว่า 理解 กับ 了解

จีบน้องเเพทซอย7.4 ตอน “เข้าใจ”บ้างสิเธอว์

ความเเตกต่างระหว่างคำว่า 理解 กับ 了解 ซึ่งเเปลว่า เข้าใจทั้งคู่ ต้องมองที่รากศัพท์ก่อนครับ

解 jiě คือคลี่คลาย 理 lǐ คือเหตุผล/หลักการ 了 liǎo คือ ผ่านพ้น/อดีต

  • 理解 [lǐjiě] คือ เข้าใจหลักการ/เหตุผล ฉะนั้น ใช้กับสถานการณ์ที่เกี่ยวข้องกับ เรื่องหลักการ เรื่องเหตุผล เรื่องวิธีการหรือเเม้เเต่ เรื่องวิชาการ เช่น ถ้าพูดว่า “ผมไม่เข้าใจข้อสอบข้อนี้” นั่นหมายความว่าเราไม่เข้าใจหลักการในการเเก้โจทย์ …เราต้องพุดว่า 我不理解这条考题。
  • 了解คือ เข้าใจด้วยสิ่งที่ผ่านพ้นไป หรือ เข้าใจจากประสบการณ์เเละระยะเวลานั่นเอง ฉะนั้น ถ้าเป็นกรณี เเม่เข้าใจลูก ฉันเข้าใจประเทศไทย เขาเข้าใจพื้นที่ภูมิศาสตร์เเถบนี้ ก็ควรจะใช้คำว่า 了解 เช่น 妈妈最了解我คุณเเม่เข้าใจผมที่สุด 他很了解中国文化เขาเข้าใจวัฒนธรรมจีนอย่างดี

ถ้าสมมติโจทย์ออกว่า 我真不___为什么他这样做。 เราควรจะใช้คำไหนดี เราก็ต้องมาวิเคราะห์ที่คำว่า 这样做(ทำเช่นนี้/จัดการเเบบนี้) คำนี้หมายถึง ทำบางอย่างด้วย”วิธีการ”บางอย่าง ซึ่งวิธีการก็คือหลักเหตุผล ไม่ใช่ประสบการณ์ ย่อมต้องใช้คำว่า理解ครับ ตอบว่า 我真不理解为什么他这样做。ผมไม่เข้าใจเลยจริงๆว่าทำไมเขาถึงทำเเบบนี้/จัดการเเบบนี้

เสริมท้าย…

  • 懂 รู้เรื่อง(ฟังออก)/เข้าใจ/มีความรู้เกี่ยวกับ… เช่น 我懂中文ฉันฟังภาษาจีนรู้เรื่อง
  • 知道 รู้/รู้จัก(บุคคล)  เช่น 我知道นิชคุณ ฉันรู้จัก/รู้เกี่ยวกับนิชคุณ
  • 明白เข้าใจเเจ่มเเส้ง/ถึงบางอ้อเเล้ว
  • 懂 กับ 明白เป็นภาษาพูด ; 理解 กับ 了解เป็นภาษาเขียน

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน

เรียนภาษาจีนกับอาจารย์อี้ : เรื่องการเปรียบเทียบ 对 กับ 跟

อ.อี้ hsk & patจีน

对 กับ 跟

จีบน้องPAT ซอย7.4  ตอน น้องแพทดุมว้าก!! (จากข้อสอบPAT7.4ปี54) *HSKระดับ3ก็มาอ่านได้

#ข้อที่1#

  • 我们的老师____新来的同学很热情。เราควรจะเลือกตัวเลือกไหนดี?

ข้อสอบข้อนี้กำลังวัดความเข้าใจเรื่องการเปรียบเทียบ 对 กับ 跟 เพราะทั้งคู่สามารถแปลเป็นคำว่า “กับ/ต่อ” สองคำนี้ใช้ในการแต่งประโยค ทำอะไรสักอย่าง “กับ”ใครสักคน (A xxx กับB…เอ่อม…xxx เป็นตัวแปรแทนการกระทำใดๆเฉยๆครับ อย่าคิดลึก)

ความจริง โดยทั่วไปแล้ว

  • 对แปลว่า รู้สึกอะไรสักอย่าง “ต่อ”ใครสักคน(ใช้กับadj.)
  • 跟แปลว่า ทำอะไรสักอย่าง “กับ”ใครสักคน(ใช้กับV.) Continue reading

ตอน เรื่องความเป็นมาของคำว่ากู 孤

อ.อี้ hsk & patจีน

ตอน เรื่องของกู 孤 [gū]

หลายท่านอาจคิดว่าผมเล่นมุขคำพ้องเสียงจีน-ไทยเฉยๆ ความจริงไม่ได้ต้องการอธิบายคำว่า กู เเต่หมายถึง 孤 ต่างหาก เเต่อันที่จริงของอันที่จริงอีกที ผมหมายถึงคำว่า กู ของกูมึง นั่นเเหล่ะครับ

เรื่องมีอยู่ว่า ความจริงในยุคสมัยก่อนยุคชุนชิว 春秋 [chūnqiū] ภาษาจีนก็ปรากฏสรรพนามบุรุษที่หนึ่งคำว่า กู 孤 เเล้ว มีความหมายว่า “ข้าพเจ้า” เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งสำหรับเจ้าเเห่งเเคว้น/อ๋อง นั่นเอง (ก่อนยุคราชวงศ์ฉิน 秦 [qín] ไม่มีฮ่องเต้ มีเเต่่ท่านอ๋อง 王 [Wáng] )

ในภาพยนตร์จีนเเนวพงศาวดาร เรามักจะได้ยินกษัตริย์ใช้สรรพนามเเทนตัวเองด้วยคำ 3 คำอันได้เเก่ 孤 [gū], 寡人 [guǎrén],  朕 [zhèn] เชื่อว่านักเรียนนักศึกษาคงสงสัยว่าคำเหล่านี้ต่างกันอย่างไร

คำตอบก็คือ ประการเเรก เป็นคำที่ใช้ในยุคสมัยที่เเตกต่างกันครับ คำว่า 孤 [gū], 寡人 [guǎrén] เป็นสรรพนามบุรุษที่หนึ่งสำหรับกษัตริย์ ในยุคชุนชิว 春秋(รวมราชวงศ์ฉิน秦) เเต่ต่อมา เมื่อจิ๋นซีฮ่องเต้ 秦始皇帝 [qínshǐhuáng dì]  รวมรวมเเผ่นดินเป็นปึกเเผ่นเเล้ว ได้บัญญัติคำว่า 皇帝 [huángdì] ฮ่องเต้ ขึ้นมา เพื่อเป็นราชันย์ในหมู่ราชันย์ จึงได้มีการกำหนดสรรพนามของฮ่องเต้ขึ้น นั่นคือคำว่า 朕 [zhèn]  นั่นเอง ส่วนคำว่า 孤 [gū], 寡人 [guǎrén] ถูกลดฐานะลงเป็นสรรพนามสำหรับอ๋องเเละศักดินาที่ได้รับการเเต่งตั้ง

เช่นในยุคสามก๊ก(ปลายราชวงศ์ฮั่น) เล่าปี่ ซุนกวน เเละโจโฉไม่เคยเรียกตัวเองว่า 朕 เเต่จะใช้เเค่คำว่า孤 หรือไม่ก็ 寡人เท่านั้น เพราะพวกเขาไม่ได้เป็นฮ่องเต้ มีเเต่พระเจ้าเฮี่ยนเต้ ถึงจะใช้สรรพนามเเทนตัวเองว่า 朕

ส่วน 孤 กับคำว่า 寡人 ต่างกันไหม คำตอบคือ โดยทั่วไป คนทางภาคกลางจนถึงใต้(ใกล้พม่า ไทย เขมร) นิยมใช้ 孤 ส่วนคนทางเหนือใช้คำว่า 寡人

ด้วยเหตุนี้จึงไม่เเปลก หากภาษาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีคำบางคำ เป็นคำพ้องเสียงเเถมยังพ้องความหมายกับภาษาจีน ดังเช่นคำว่า孤 [gū] กับ กู นั่นเอง

ส่วนคราวหน้าจะมี เรื่องของมึง เเล้วก็เรื่องของเเม่งด้วยไหม? โปรดติดตามตอนต่อไป

สวัสดี(- /i\ -)
ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน

การใช้ 有 , 没有 เรื่องง่ายเเต่อย่ามองข้าม

อ.อี้ hsk & patจีน

จีบน้องเเพทซอย7.4 ตอน 有 / 没有เรื่องง่ายเเต่อย่ามองข้าม

หลายคนอาจไม่เคยสังเกตุ คำว่า 有 / 没有 มีความหมายอื่นนอกจาก มี / ไม่มี กรณีทั่วไป 有 / 没有เเปลว่า มี/ไม่มี เช่น

  • 有钱 /没有钱 มีเงิน/ไม่มีเงิน
  • เเต่ในกรณีที่ 有 / 没有 ตามหลังด้วยคำกริยา ความหมายจะเปลี่ยนไป เช่น 他没有吃 เขาไม่ได้กิน (ตรงนี้สังเกตุให้ดีนะครับ คนละความหมายกับ 他不吃 เขาไม่กิน)

* 他没有吃 เขาไม่ได้กิน (เป็นการบอกเล่าสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น/ส่วนอนาคตจะเกิดขึ้นไหมก็ไม่รู้) * หรือกรณีเราไม่ยอมรับสิ่งที่คนอื่นกล่าวหา เราก็สามารถใช้รูปนี้ได้ เช่น 我没有吃 ฉันไม่ได้กินนะ

** 他不吃 เขาไม่กิน *หรืออาจหมายถึง เขาไม่ยอมกิน/เขาไม่ชอบกิน(เป็นประโยคปฏิเสธ/ไม่มีวันเกิดขึ้น/ไม่ชอบให้เกิดขึ้น)

สรุป:

  • 没有+คำนาม = ไม่มีxx
  • 没有+คำกริยา =ไม่ได้xx *ไม่ได้ทำบางสิ่ง/ไม่ยอมรับว่าเคยทำ)
  • 不+คำกริยา=ไม่xx *ไม่ทำ / ไม่ยอมทำ /ไม่ชอบ

คราวนี้มาดูคำว่า 有

  • 有+คำนาม = มีxx เช่น 我有本子 ฉันมีสมุด
  • 有+คำกริยา = ได้xx / เคยXX (ได้ทำบางสิ่ง/ยอมรับว่าทำไปเเล้ว) เช่น กรณีคนถามเราว่า 你有没有来过上海?(คุณเคยมาเซี่ยงไฮ้หรือเปล่า) เราสามารถตอบห้วนๆย้อนรูปคำถามได้เลยว่า 有啊(เคยสิ) หรือตอบ 我有来过(ฉันเคยมา)

เเต่เหตุที่ปกติเราไม่ค่อยเห็นคนจีนใช้รูปประโยค 我有来过(ฉันเคยมา) เพราะคนจีนนิยมย่อเหลือ 我来过 มากกว่า
อีกกรณีหนึ่ง ถ้ามีคนถามว่า 你有没有吃早饭 คุณทานมื้อเช้าหรือยัง เราก็สามารถตอบได้ 2เเบบ คือ 我吃了 หรือ 我有吃 หรือตอบห้วนๆว่า吃了/ 有啊 ก็ได้ เเต่รูป 我吃了 นิยมมากกว่า

เห็นไหมครับว่า บางครั้ง เรื่องง่ายๆเเต่ถ้าเรารู้ไม่ครบ ตอนสอบเราก็สับสนได้นะครับ ฉะนั้น ใจเย็นๆครับ อะไรที่ง่ายๆก็อย่ามองข้าม ในการสอบ คนที่พื้นฐานไวยากรณ์ดีย่อมได้เปรียบมากครับ

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน

ความแตกต่างระหว่าง 没法子, 没办法, 没门儿, 没戏 และ 没戏唱

อ.อี้ hsk & patจีน

没法子, 没办法, 没门儿, 没戏, 没戏唱 คำเหล่านี้เหมือนกันเเละต่างกันอย่างไร?

  • 没法子 / 没办法  หมายถึง ไม่มีวิธีเเล้ว/หมดทางสู้/จนปัญญา
  • 没门儿 หมายถึง ไม่มีทาง! ฝันไปเถอะ! ใช้ในกรณีปฏิเสธ/พูดตัดบทอย่างไม่ใยดี ใช้เป็น”สำนวนสำเร็จรูป” ที่ไม่นิยมกับโครงสร้างประโยคอื่น เหมือนกับคำว่า 不行 ไม่ได้ 不成 ไม่เอาด้วย / ไม่มีทาง (เเต่ถ้าเอาไว้ท้ายสุดของประโยคก็พอจะอนุโลมได้ในภาษาพูด)
  • **法子 / 没办法 ใช้เป็น”ขยายภาคเเสดง”ได้(วางไว้หน้า การกระทำ) เช่น
    • 我没法子帮你。ผมจนปัญญาที่จะช่วยคุณเเล้วหล่ะ กรณีนี้เราไม่สามารถใช้คำว่า 没门儿
    • 我没法子帮你。(ถูก)
    • 我没门儿帮你。(ผิด) * ระวังครับ บางครั้งเราอาจได้ยินคนจีนพูดเเบบนี้ เเต่ในเเง่ของหลักภาษา ถือว่าผิดครับ ใช้กับข้อสอบไม่ได้

ส่วน 没戏, 没戏唱 ก็เป็นสำนวนสำเร็จรูป ไม่สามารถนำไปวางอยู่หน้าภาคเเสดง เช่นเดียวกับ 没门儿 *เเต่สามารถเชื่อมด้วย 就 หรือ 可 เพื่อจบประโยคได้

  • 没戏 หมายถึง หมดหวัง/ทำอะไรไม่ได้เเล้ว *戏=เกม, ละคร 没戏ประมาณว่า ไม่มีเกมให้เล่นต่อเเล้ว/ไม่มีบทให้เล่นต่อเเล้ว(หมดหวัง)
  • 没戏唱 ใช้ได้2กรณี 1.คือ หมดหวัง(เท่ากับคำว่า没戏) 2.คือ ไปต่อไม่เป็นเลย ทำอะไรไม่ถูก(เป็นสำนวนประชด) เช่น
    • 你来这个,我就没戏唱了。
    • หรือ 你来这个,我可没戏唱了。 โห นายทำเเบบนี้ ฉันไปต่อไม่เป็นเลยนะเนี่ย

*** จำไว้นะครับ สำนวนสำเร็จรูป คือสำนวนที่ความหมายจบในตัว ไม่นิยมเอาไปขยายอยู่หน้าโครงสร้างอื่นครับ ส่วนมากใช้เป็นรูปสั้นๆเพื่ออุทาน สบถ พูดตัดบท

  • 没门儿
  • 没戏
  • 没戏唱
  • 不行
  • 不成

คำเหล่านี้เป็นสำนวนสำเร็จรูปครับ

ติดตามได้ใน…อ.อี้hsk&patจีน