Category Archives: เรียนภาษาจีนกับ Gunth Lpnm

ไวยากรณ์จีน : “起” กับ “起来” การบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำด้วย 趋向补语 ตอนที่4

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

วันนี้มาต่อกันด้วยเรื่องเดิม คือ 趋向补语 (4) อีก 2 ตัว คือ “起” กับ “起来”

1. “起” กับ “起来” 2 คำนี้มีความหมาย 3 อย่าง คือ

  • กริยา/การกระทำขึ้นสู่บน (ขี้นสู่ที่สูง)
  • กริยาเริ่มต้นขึ้น และดำเนินต่อไป
  • และ รวบรวม หรือเก็บรวมเข้าไว้ด้วยกัน (聚拢、集中)

ตัวอย่างประโยค เช่น

  • 他站起身来,头也不回走出门去。(เขาลุกขึ้นยืน ไม่แม้แต่หันหัว (กลับมา) ก็เดินออกจากประตูไป — กริยาขึ้นสู่บน)
  • 大家热烈地讨论了起来。(ทุกคนถกเถียงกันอย่างเผ็ดร้อน/กระตือรือล้นขึ้นมา — กริยาเริ่มต้นขึ้น และดำเนินต่อไป)
  • 把这些筷子一把一把抽起来。(เอาตะเกียบพวกนี้เก็บรวมขึ้นมาทีละ กำทีละกำ — กริยารวบรวมเข้าไว้ด้วยกัน)

2. ข้อแตกต่างระหว่าง “起” กับ “起来” คือ

เมื่อใช้ “起来” ความต่อเนื่อง (หรือการดำเนินไป) ของกริยา/การกระทำจะชัดเจนกว่าการใช้ “起” และการเสร็จสิ้นของเป้าหมาย หรือผลลัพธ์ (目的、结果) ของกริยา/การกระทำจะชัดเจนกว่าการใช้ “起”

ลองเปรียบเทียบความแตกต่างดู เช่น

  • 他把包提了起来。 (เขาถือกระเป๋าขึ้นมา — ความต่อเนื่อง/ผลลัพธ์ของกริยาชัดเจนกว่า)
  • 他提起包就走。 (เขาถือกระเป๋าขึ้นแล้วก็เดินไป)
  • 把你的东西收起来! (เก็บของของแกขึ้นมา — ความต่อเนื่อง/ผลลัพธ์ของกริยาชัดเจนกว่า)
  • 收起你的东西! (เก็บของของแกซะ)

3. ข้อแตกต่างอีกประการ คือ

“起” จะวางอยู่กลางประโยค หรือกลางประโยคของกริยาที่แสดงความต่อเนื่องติดกัน (紧凑) ของกริยา/การกระทำอีกตัวหนึ่ง (หมายถึงกริยาตัวหลังจะเกิดต่อเนื่องกับกริยาตัวแรกทันที) และหลังคำกริยาต้องตามด้วยกรรม (宾语) เช่น

  • 他抬不起胳膊了。 (เขายกแขนไม่ขึ้นแล้ว — 起 วางอยู่กลางประโยค, มี 胳膊 เป็นกรรม)
  • 市中心建起一座立交桥。 (ใจกลางเมืองสร้างสะพานลอยขึ้นมาหนึ่งแห่ง — 起 วางอยู่กลางประโยค, มี 立交桥 เป็นกรรม)
  • 他捡起一块石头扔了过去。 (เขาหยิบหินขึ้นมาหนึ่งก้อนแล้วเขวี้ยงข้ามไป — 起 วางอยู่กลางประโยค, มี 石头 เป็นกรรม)

“起来” มักวางไว้ท้ายประโยค หรือใช้ในประโยคที่กริยาไม่แสดงความต่อเนื่องติดกัน (非紧凑) ของกริยา/การกระทำ (อีกตัวหนึ่ง) เช่น

  • 他站起来了。 (เขายืนขึ้นมา)
  • 他接过钱来,一张一张点了起来。 (เขารับเงินมา เริ่มนับทีละใบ ทีละใบ)
  • 老王点起烟,慢慢地抽了起来。 (เหล่าหวังจุดบุหรี่ เริ่มสูบอย่างช้าๆ — ประโยคแรกใช้ 起 วางไว้กลางประโยค ต่อเนื่องไปกริยาประโยคหลังที่ใช้ 起来)

4. นอกจากนั้น “起来” ยังมีความหมายถึงสภาวะหนึ่งสภาวะใดเริ่มต้นขึ้น และดำเนินต่อไป ซึ่ง (การบอก หรือแสดงสภาวะนั้น) มักจะเป็นคำคุณศัพท์ (形容词) ดังนั้น จึงไม่ต้องมีกรรม (คำคุณศัพท์ตามด้วยกรรมไม่ได้) เช่น

  • 看到他,我不由得紧张起来。 (พอเห็นเขา ฉันก็อดที่จะตื่นเต้นขึ้นมาไม่ได้ — 紧张 เป็นคำคุณศัพท์)
  • 天渐渐地冷了起来。 (อากาศค่อยๆ หนาวขึ้นมา — 冷 เป็นคำคุณศัพท์)

เดี๋ยวมาต่อเรื่องของ “起” กับ “上” เป็นเรื่องสุดท้ายของวันนี้กัน

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “起来” กับ “下去” — การบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำด้วย 趋向补语 ตอนที่3

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ความหมายของ “起来” กับ “下去”

สองคำนี้จะวางหลังคำกริยา (ทำหน้าที่เป็นบทเสริมบอกทิศทาง หรือ 趋向补语) เพื่อบอกสภาวะของเวลาที่แน่นอน

ข้อแตกต่าง คือ

1. “起来” จะหมายถึงกริยา/การกระทำเริ่มต้นขึ้น หรือสภาวะใดสภาวะหนึ่งเริ่มปรากฏขึ้น และดำเนินต่อไป เช่น

  • 孩子大哭起来。(เด็กร้องขึ้นมา)
  • 他又忙起来了。(เขาเริ่มยุ่งอีกแล้ว)

2. ส่วน “下去” จะบอกแค่ว่ากริยา/การกระทำ หรือสภาวะใดสภาวะหนึ่งกำลังดำเนินอยู่เท่านั้น (ไม่มีความหมายของการเริ่มต้นขึ้น) เช่น

  • 你接着说下去。(คุณพูดต่อไปเลย)

 

“起来” กับ “下去” มีข้อแตกต่างอีกประการ คือเมื่อใช้กับคำคุณศัพท์ (形容词) โดย  “起来” มักใช้กับคำคุณศัพท์ที่เป็นบวก ส่วน “下去” มักใช้กับคำคุณศัพท์ที่เป็นลบ เช่น

  • 好起来 (ดีขึ้น)
  • 亮起来 (สว่างขึ้น)
  • 富裕起来 (ร่ำรวยขึ้น)
  • 暗下去 (มืดลง)
  • 坏下去 (แย่ลง)
  • 软弱下去 (อ่อนแอปวกเปียกลง)

คราวหน้าเราจะดูกันต่อระหว่าง “起来” กับ “出来” และ “上” กับ “起”

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “起来”กับ“上来” การบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำด้วย 趋向补语 ตอนที่2

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

 

(มาต่อกันเลย) คราวที่แล้วพูดถึงไวยากรณ์พื้นฐานของการบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำ คราวนี้จะมาดู 趋向补语 [qūxiàng bǔyǔ] ที่มีความหมาย และวิธีการใช้จริงที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้น

จะเริ่มจากคู่ของ “起来” กับ “上来” กันก่อน

趋向补语  สองคำนี้ แปลง่ายๆ ตามความหมายพื้นฐาน คือ

  • “起来” (ลุกขึ้นมา)
  • กับ “上来” (ขี้นมา)

ทั้ง 2 คำล้วนแสดงถึงกริยา/การกระทำเริ่มจากล่างขึ้นบน, จากที่ต่ำขี้นสู่ที่สูง แต่ 2 คำนี้ใช้แทนกันไม่ได้

1.  ข้อแตกต่าง คือ “起来” จะบอกแค่เพียงว่ากริยา/การกระทำเริ่มจากล่างขึ้นบน, จากที่ต่ำขี้นสู่ที่สูงเท่านั้น ไม่ได้บอกว่ากริยา/การกระทำขึ้นไปถึง (ขึ้นไปสู่) สถานที่ใด กรรมของคำกริยามักจะละไว้ในฐานที่เข้าใจ หรืออาจจะเป็นสิ่งของ หรือส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกายก็ได้ เช่น

  • 飞起来了 (บินขึ้นไปแล้ว – รู้ว่าบินขึ้นไปบนไหน)
  • 坐起来 (นั่งลงมา – รู้ว่านั่งลงบนไหน)
  • 站起身来 (ยืนขึ้นมา – คำว่า 身 เป็นที่เข้าใจว่า คือร่างกาย, สามารถละการแปลความหมายได้)
  • 端起碗来 (ยกชามมา)

นอกจากความหมายพื้นฐานข้างต้น “起来” ยังมีความหมายว่า กริยา/การกระทำ หรือสภาวะใดสภาวะหนึ่ง เริ่มต้น และดำเนินอยู่ (“上来” ไม่ใช้ในความหมายนี้) เช่น

  • 大家都笑起来 (ทุกคนหัวเราะขึ้นมา)
  • 脸红了起来 (หน้าเริ่มแดงขึ้นมา)
  • 看起电视来 (เริ่มดูโทรทัศน์)

2. ส่วนการใช้ “上来” จะต้องบอกว่ากริยา/การกระทำนั้นไปถึง (ไปสู่) สถานที่ใด กรรมจึงมักเป็นสถานที่ (แต่สถานที่อาจจะละได้ ถ้าเป็นที่เข้าใจกัน) เช่น

  • 跑上楼来 (วิ่งขึ้นตึกมา)
  • 走上台来 (เดินขึ้นเวทีมา)
  • 爬上来了 (ปีนขึ้นมาแล้ว – ละสถานที่ เช่น ภูเขา เพราะเป็นที่เข้าใจกัน)

“上来” ยังหมายถึง (กริยา/การเคลื่อนไหว) จากสถานที่ไกลเข้าหาสถานที่ใกล้ (“起来” ไม่มีวิธีใช้แบบนี้) เช่น

  • 他们追上来了。(พวกเขาไล่ (กวด) ตามมาแล้ว)
  • 敌人包围上来了。(ศัตรูปิดล้อมเข้ามาแล้ว)

นอกจากนั้น “上来” ยังมีความหมายถึงประสบความสำเร็จในการตอบ (คำถาม) ได้, ทำได้, รู้คำตอบ, จำได้ เป็นต้น (มักใช้เกี่ยวกับภาษา) (“起来” ไม่มีวิธีใช้แบบนี้) เช่น

  • 全答上来了。(ตอบคำถามได้ถูกหมด)
  • 我叫不上来他的名字了。(ฉันเรียกชื่อเขาไม่ได้ หมายถึงจำขื่อเขาไม่ได้)

คราวหน้าจะมาดูต่อระหว่าง “起来” กับ “下去”

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : การบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำด้วย 趋向补语 ตอนที่1

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

การบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำด้วย 趋向补语 (1)

1. คำกริยา “来” และ “去” ถ้านำมาวางหลังคำกริยา (บางคำ) ก็จะกลายเป็นบทเสริมคำกริยา (补语) เพื่อบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำ บทเสริมแบบนี้เรียกว่า 简单趋向补语 ซึ่งจะอยู่ในรูป

1.1 动词 (คำกริยา) + 来 ==> ใช้เมื่อทิศทางของกริยา/การกระทำ เข้าหา (เข้าใกล้) ตัวผู้พูด เช่น

  • 下来 (ลงมา)
  • 进来 (เข้ามา)
  • 上来 (ขึ้นมา)

1.2 动词 (คำกริยา) + 去 ==> ใช้เมื่อทิศทางของกริยา/การกระทำ ออกจาก (ออกห่าง) ตัวผู้พูด เช่น

  • 下去 (ลงไป)
  • 进去 (เข้าไป)
  • 上去 (ขึ้นไป)

ถ้าคำกริยามีกรรมเป็นสถานที่ (处所) จะต้องวางกรรมไว้หลังคำกริยา (动词) หน้า 来/去 เช่น

  • 我们进屋去吧。(พวกเราเข้าห้องกันเถอะ)

ถ้าคำกริยามีกรรมเป็นสิ่งของ (事物) จะวางกรรมไว้หน้า หรือหลัง 来/去 ก็ได้ เช่น

  • 我买来了一本书。 หรือ 我买了一本书来。 (ฉันซื้อหนังสือมาเล่มหนึ่ง)

2. บทเสริมแสดงทิศทางของกริยา หรือการกระทำอีกแบบหนึ่ง เรียกว่า 复合趋向补语 จะอยู่ในรูป

2.1 คำกริยา (动词) + (คำกริยาแสดงทิศทาง + 来) ==> ใช้เมื่อทิศทางของกริยา/การกระทำ เข้าหา (เข้าใกล้) ตัวผู้พูด เช่น

  • 上来 (ขึ้นมา)
  • 下来 (ลงมา)
  • 进来 (เข้ามา)
  • 出来 (ออกมา)
  • 回来 (กลับมา)
  • 过来 (ข้ามมา)
  • 起来 (ขึ้นมา)

ตัวอย่างประโยค เช่น

  • 他跑回家来了。 (เขาวิ่งกลับบ้านมาแล้่ว)
  • 我买回来一本书。 (ฉันซื้อหนังสือกลับมาเล่มหนึ่ง)

2.2 คำกริยา (动词) + (คำกริยาแสดงทิศทาง + 去) ==> ใช้เมื่อทิศทางของกริยา/การกระทำ ออกจาก (ออกห่าง) ตัวผู้พูด เช่น

  • 上去 (ขึ้นไป)
  • 下去 (ลงไป)
  • 进去 (เข้าไป)
  • 出去 (ออกไป)
  • 回去 (กลับไป)
  • 过去 (ข้ามไป)

ตัวอย่างประโยค เช่น

  • 他走出公园去了。 (เขาเดินออกจากสวนสาธารณะไปแล้ว)

และถ้ากรรมเป็นสถานที่ (处所) จะต้องวางกรรมไว้หน้า 来/去 เช่น

  • 他走进图书馆去了。 (เขาเดินเข้าห้องสมุดไปแล้ว)

ถ้ากรรมเป็นสิ่งของ (事物) จะวางกรรมไว้หน้า หรือหลัง 来/去 ก็ได้ เช่น

  • 他带回来一只箱子。 หรือ 他带回一只箱子来。 (เขานำกล่องกลับมา)

นอกจากนั้น ถ้าคำกริยาไม่มีกรรม “了” จะวางไว้หลังคำกริยา หน้าบทเสริม หรือวางไว้ท้ายประโยคก็ได้ เช่น

  • 一下课,同学们就跑了出去。
  • หรือ 一下课,同学们就跑出去了。(พอเลิกเรียน พวกนักเรียนก็วิ่งออกไป)

แต่ถ้ากรรมเป็นสถานที่ (处所) “了” ควรวางไว้ท้ายประโยค เช่น

  • 他走下楼去了。 (เขาเดินลงจากตึกไปแล้ว)

ถ้ากรรมเป็นสิ่งของ (事物) “了” ควรวางไว้หลังบทเสริม หน้ากรรม (กรรมอยู่หลังสุด) เช่น

  • 我给你买回来了一件衣服。 (ฉันซื้อเสื้อกลับมาให้เธอหนึ่งตัว)

ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นไวยากรณ์พื้นฐานเกี่ยวกับการบอก/แสดงทิศทางของกริยา/การกระทำ จะสังเกตว่าเมื่อแปลความหมายก็เป็นการแปลตรงตัวง่ายๆ

(บทความถัดไป) เราจะมาดู 趋向补语 (简单趋向补语 และ 复合趋向补语 มักนิยมเรียกกันสั้นๆ ว่า 趋向补语) ที่มีความหมาย และวิธีการใช้จริงที่ซับซ้อนขึ้นมาอีกขั้น โดยจะเปรียบเทียบวิธีใช้ และความแตกต่างของ 趋向补语 กันเป็นคู่ๆ ดู

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ภาษาจีน ความสวยงาม 美丽 กับ 漂亮

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“美丽” กับ “漂亮” 2 คำนี้มีความหมายเหมือนกัน (ในบางกรณี) 美丽 ก็คือ “น่าดู”, “สวยงาม”, “งดงาม” หรือ “漂亮” นั่นเอง

ข้อแตกต่างสำคัญ คือ

1. ในแง่ความหมาย และประเภทของคำ

  • “美丽” เป็นคำคุณศัพท์ (形容词) แปลว่า “สวยงาม”, “งดงาม”, “ดูดี” ฯลฯ ความหมายในภาษาจีน คือ “好看的” เป็นความรู้สึกที่เมื่อได้เห็นแล้วเกิดความสุขใจ หรือมีความสุข (快感) ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “beautiful”
  • ส่วน “漂亮” เป็นคำกริยา (动词) หมายถึง “好看” หรือ “美观” แปลว่า “สวยงาม”, “งดงาม”, “ดูดี”, “หน้าตาดี”, “หล่อเหลา” เช่นกัน ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “beautiful”, “pretty”, “gook-looking”, “handsome”

เราสามารถใช้ทั้ง 2 คำนี้กับคน, การแต่งกาย, สิ่งของ, สถานที่ หรือสภาพแวดล้อมได้ทั้งคู่แต่เมื่อใช้กับคน

  • “美丽” จะใช้กับเพศหญิงเท่านั้น
  • ส่วน “漂亮” ใช้ได้ทั้งเพศหญิง และเพศชาย “漂亮” เมื่อใช้กับเพศชายจะหมายถึง “หล่อเหลา” หรือ handsome นั่นเอง

** “漂亮” ยังมีอีกความหมายหนึ่ง คือ “โดดเด่น”, “ยอดเยี่ยม” (splendid, remarkable) หรือ “出色” ในภาษาจีน มักใช้กับการบรรยายการกีฬา, การแข่งขัน, ภาษา, การกระทำ เป็นต้น (美丽ไม่ใช้ในความหมายนี้)

** “美丽” ยังหมายถึง “สูงส่ง”, “ดีงาม” มักใช้ขยาย หรือบรรยายคุณสมบัติของสิ่งของ, คุณธรรม หรือจริยธรรมของคน เช่น 美丽动人的传说 (漂亮 ไม่ใช้ในความหมายนี้)

2. ในแง่ไวยกรณ์

  • “美丽” สามารถเป็นบทขยายนาม (定语) โดยต้องมี 的 อยู่ด้วยเสมอ, ภาคแสดง (谓语) และบทเสริม (补语) แต่ไม่สามารถซ้ำคำ (重叠) ได้
  • ส่วน “漂亮” สามารถเป็นบทขยายนาม (定语), ภาคแสดง (谓语), บทเสริม (补语) และสามารถซ้ำคำ (重叠) เป็น 漂漂亮亮ได้

ลองมาดูตัวอย่างประโยคกัน

  • 她是个美丽/漂亮的姑娘。ใช้กับผู้หญิง, เป็นบทขยายนาม (定语)
  • 这儿的风景美丽极了。ใช้กับสถานที่, เป็นภาคแสดง (谓语)
  • 她长得很漂亮/美丽。ใช้กับผู้หญิง, เป็นบทเสริม (补语)
  • 他长得很漂亮。ใช้美丽ไม่ได้ เพราะใช้กับผู้ชาย, เป็นบทเสริม (补语)
  • 这么漂亮的衣服在哪儿买的?ใช้กับสิ่งของ, เป็นบทขยายนาม (定语)
  • 这辆车真漂亮。ใช้กับสิ่งของ, เป็นภาคแสดง (谓语)
  • 她今天打扮得漂漂亮亮。ใช้กับการแต่งกาย, เป็นบทเสริม (补语) และซ้ำคำ (重叠)

“漂亮” ถ้าหมายถึง “出色” หรือ “โดดเด่น”, “ยอดเยี่ยม” จะใช้เป็นบทขยายนาม (定语) และบทเสริม (补语) เท่านั้น

  • 战士们打了一个漂亮仗。เป็นบทขยายนาม (定语)
  • 马纳的汉语说得很漂亮。เป็นบทเสริม (补语)
  • 这个球进得真漂亮!เป็นบทเสริม (补语)

3. ในแง่เซ้นส์ หรือความรู้สึกทางภาษา (语感)

เซ้นส์ทางภาษาเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก (ถ้าไม่ใช่คนจีน หรือเจ้าของภาษา) แต่ก็สามารถพัฒนาให้เกิดขึ้นได้โดยอาศัยการสังเกต และการศึกษาเรียนรู้เยอะๆ ระหว่าง 2 คำนี้ คือ

  • “美丽” มักใช้กับทัศนียภาพ, วิว,ทิวทัศน์ต่างๆ (นอกจากใช้กับผู้หญิง)
  • ส่วน “漂亮” มักใช้กับเสื้อผ้า, เครื่องประดับ, สิ่งของ, อาคาร เป็นต้น (นอกจากใช้กับคน (ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง))

“美丽” เป็นความสวยงาม, งดงามที่แฝงไว้ด้วยความเคร่งขรึม, สง่างาม, ยิ่งใหญ่ ถ้าใช้ “美丽” ผู้พูด และผู้ฟังจะมีความรู้สึกเหล่านี้แฝงอยู่ ส่วน “漂亮” ไม่แฝงความรู้สึกทำนองนี้

สุดท้าย “美丽” มักใช้ในภาษาเขียน (ภาษาพูดก็ใช้ได้) ส่วน “漂亮” มักใช้ในภาษาพูด

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

วิธีใช้ 不 กับ 没(有)

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

不, 没有

วันนี้มาอย่างยาวววว (อีกแล้ว) และหนักไปทางวิชาการสักหน่อย
“不” กับ “没(有)” มีความหมายของการ “ปฏิเสธ” และเป็นคำกริยาวิเศษณ์ (副词) ทั้งคู่ จะวางไว้หน้าภาคแสดง (谓语) (เช่น คำกริยา หรือคำคุณศัพท์ ฯลฯ)

--> ข้อแตกต่างสำคัญของ “不” กับ “没(有)” คือ

1. “不” มักใช้ “ปฏิเสธ” ความปรารถนา, ความต้องการ, ความสมัครใจ, ความคิดเห็น ฯลฯ ของผู้พูด (ผู้กระทำ) ในเชิงอัตวิสัย (主观意愿) คือบอก หรือแสดงความคิดเห็น, ความรู้สึก, ความต้องการ ฯลฯ ของผู้พูด (ผู้กระทำ) เช่น ไม่อยาก, ไม่ชอบ, ไม่ไป เป็นต้น

ส่วน “没(有)” มักใช้ “ปฏิเสธ” กริยา (การกระทำ), เหตุการณ์, สภาพ, สภาวะต่างๆ ในเชิงภาวะวิสัย (客观叙述) คือเป็นเพียงการเล่าเหตุการณ์ตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเท่านั้น ไม่ได้บ่งบอกความคิดเห็น, ความรู้สึก, ความต้องการ ฯลฯ ของผู้พูด (ผู้กระทำ)

ในแง่เวลา “不” จะใช้ “ปฏิเสธ” กริยา (การกระทำ) หรือเหตุการณ์ในอดีต, ปัจจุบัน และอนาคตได้หมด
ส่วน “没(有)” จะใช้ “ปฏิเสธ” กริยา (การกระทำ) หรือเหตุการณ์ในอดีต และปัจจุบันเท่านั้น ใช้กับอนาคตไม่ได้ เช่น

  • 我不吃早饭了。(อัตวิสัย ผู้พูดไม่อยาก ไม่ต้องการกิน, เหตุการณ์ปัจจุบัน)
  • 我没吃早饭呢。(ภาวะวิสัย ผู้พูดบอกข้อเท็จจริงให้ทราบเท่านั้น ต่อไป (อีกสักครู่) อาจจะกิน หรือไม่กินก็ได้, เหตุการณ์ปัจจุบัน)
  • 昨天他没来,*今天又没来,听说明天还不想来。(เหตุการณ์เมื่อวาน (อดีต) และวันนี้ (ปัจจุบัน), เป็นภาวะวิสัย ผู้พูดเล่าตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น, ส่วนเหตุการณ์พรุ่งนี้ (อนาคต) เป็นไปตามอัตวิสัย หรือการคาดการณ์ (การได้ยินมา) ของผู้พูด)

* ประโยคย่อย “今天又没来” ถ้าเปลี่ยนเป็น “今天又不来” จะกลายเป็นอัตวิสัยของผู้พูด

2. การ “ปฏิเสธ” กริยา (การกระทำ) ที่มีลักษณะเป็นนิสัย, ความเคยขิน หรือพฤติกรรมที่ทำเป็นประจำ หรือการ “ปฏิเสธ” กริยาที่ไม่ปรากฎรูปธรรมชัดเจน (เป็นนามธรรม) เช่น 是 (เป็น), 认识 (รู้จัก), 知道(ทราบ), 像 (เหมือน) เป็นต้น ต้องใช้ “不” เท่านั้น เช่น

  • 她从来不迟到。(พฤติกรรม นิสัยที่ทำเป็นประจำ)
  • 他这个人真好即不抽烟,又不喝酒。(พฤติกรรม นิสัยที่ทำเป็นประจำ)
  • 这不是我的。(กริยานามธรรม)
  • 我们不认识。(กริยานามธรรม)

3. การ “ปฏิเสธ” ลักษณะ, คุณสมบัติ หรือคุณภาพของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือคน (มักเป็นคำคุณศัพท์) ต้องใช้ “不” เช่น

  •  这些天爸爸身体不好,该多休息。

4. ถ้าเป็นการ “ปฏิเสธ” การเปลี่ยนแปลงของสภาพ, สภาวะต่างๆ สามารถใช้ “没(有)”ได้ เช่น

  • 天还没亮,你再睡一会儿吧。

5. “不” สามารถใช้กับ (วางหน้า) กริยาแสดงความปรารถนา ความต้องการ หรือความเป็นไปได้ ฯลฯ (能源动词) ได้ทุกตัว ส่วน “没(有)”ใช้กับกริยาประเภทนี้ได้เป็นส่วนน้อย (บางตัว)เท่านั้น เช่น

  •  能说
  • 不会写
  • 不该走不愿来
  • 不要告诉他
  • 没能听懂
  • 没能够说服他
  • 没敢做

6. “不” สามารถวางไว้ระหว่างคำกริยา (动词) กับบทเสริมแสดงผลลัพธ์ (结果补语) หมายถึง “不可能” เช่น

  • 听不懂
  • 看不完
  • 来不及
  • 记不住

7. “不” เป็นคำกริยาวิเศษณ์ (副词) วางไว้หน้าภาคแสดง (谓语) เท่านั้น แต่ “没(有)” นอกจากเป็นคำกริยาวิเศษณ์ ยังเป็นคำกริยา (แท้) ได้ด้วย “没(有)”จึงใช้ปฏิเสธตัวเลข, จำนวน, การเปรียบเทียบ, การมีอยู่ ฯลฯ ได้ เช่น

  •  这件包裹没有二十公斤重。
  • 我英语说得没有你好。
  • 教室里没(有)人呢?

8. “没(有)”เมื่อเป็นคำกริยา (แท้) เป็นคำปฏิเสธของคำว่า “领有” และ “具有” เมื่อใช้เป็นคำกริยา (แท้) มีกรรมเป็นคำนามได้ และโดยปกติ ไม่สามารถมีคำเสริมท้าย 了、着、过 ได้ (เพราะเป็นการปฏิเสธกริยา หรือการกระทำนั้น) และไม่สามารถซ้ำคำ และมีบทเสริมท้าย (补语) ไม่ได้

 

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ศัพท์ภาษาจีน : ตัดๆ หั่นๆ ในภาษาจีน

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

คำกริยาเกี่ยวกับการตัด, ฟัน, หั่น, ผ่า ฯลฯ ที่น่าสนใจในภาษาจีน เป็นคำกริยาที่เกี่ยวข้องกับการใช้อุปกรณ์เครื่องมือ เช่น มีด, ขวาน หรือของมีคม ทำให้สิ่งของแยกออกจากกัน หรือขาดออกจากกัน แต่วิธีการไม่เหมือนกัน

1.“砍” กับ“剁” 2 คำนี้ เป็นการใช้มีด หรือขวานทั้งคู่, ต่างกันที่ “砍” แปลว่า “ฟัน” หรือ “ตัด” เป็นกริยาการถือมีด หรือขวานออกแรงตัด หรือฟันจากด้านข้าง (เฉียง) หรือแนวนอน ทำให้สิ่งของแยกออก, ขาดออกจากกัน เช่น 砍树 (ตัดต้นไม้)、砍木头 (ตัดไม้)、砍树枝 (ตัดกิ่งไม้)、砍柴 (ตัดฟืน)、砍头 (ตัดศีรษะ) เป็นต้น

  •  “砍”ในภาษาจีนท้องถิ่น หมายถึงกริยา “ขว้าง” หรือ “เหวี่ยง” สิ่งของด้วย คำที่น่าสนใจ เช่น 砍刀(มีดตัดฟืน)、砍伐 (โค่น (ต้นไม้))
  •  ส่วน “剁”แปลว่า “สับ” เป็นการใช้แรงกระแทกขึ้นลง (บนแผ่นกระดาน เช่น เขียง เป็นต้น) เพื่อทำให้สิ่งของนั้นแยกออกจากกัน หรือแตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย เช่น 剁白菜 (สับผักกาดขาว)、剁饺子馅儿 (สับไส้ทำเกี๊ยว)

2.“割”、”切”、”片”、”拉”(lá)เป็นกริยาที่ใช้มีด (เป็นส่วนใหญ่)

  • “割”ใช้มีด “ตัด” สิ่งของ (คมมีดจะตัดเข้าไปในเนื้อสิ่งของ) ให้ขาดออกจากกัน เช่น 割稻 (เกี่ยวข้าว) คำที่น่าสนใจ เช่น 割胶;割漆 (กรีดยาง, กรีดเปลือกยางให้น้ำยางไหลออกมา)、割礼 (พิธีสุหนัตของอิสลาม)
  •  “切” ใช้มีด “หั่น” หรือ “ตัด” สิ่งของจากแนวตั้ง ให้เป็นชิ้น หรือเป็นก้อน (块), เป็นแผ่นบางๆ (片)หรือเป็นเส้น (条)ก็ได้ เช่น 切西瓜 (หั่นแตงโม)、切成块 (หั่นเป็นชิ้น)  คำที่น่าสนใจ เช่น 切面 (หมี่ที่ตัดเป็นเส้น)、切片 (หั่นเป็นแผ่นบางๆ)
  •  “片” ใช้มีด “หั่น” หรือ “ตัด” สิ่งของ (ในแนวขึ้นลง) ให้เป็นแผ่นบางๆ เช่น 片肉片儿 (ตัดเนื้อเป็นแผ่นบางๆ)、把萝卜片一片 (หั่นหัวไชเท้าเป็นชิ้น เป็นแผ่น (ภาษาไทยมักใช้ว่า “เป็นแว่น”))
  •  “拉” (lá)ใช้มีด “กรีด” หรือ “ตัด” ลงบนพื้นผิวของสิ่งของเป็นเส้น หรือแนวตรง เพื่อให้สิ่งของนั้น แตกออก, แยกออก หรือขาดออกจากกัน เช่น 皮子拉开了(แผ่นหนังถูกกรีด (ตัด) ออกแล้ว)  “拉” จะแปลว่า “แตก” หรือ “ปริ” ออกจากกันก็ได้

3.”剪” ใช้กรรไกร “ตัด” สิ่งของที่เป็นแผ่น หรือเป็นเส้นให้ขาดออกจากกัน เช่น 剪纸 (ตัดกระดาษ)、剪报 (ตัดข่าวหนังสือพิมพ์)

4.“锯” ใช้เลื่อย “ตัด” หรือ “เลื่อย” สิ่งของให้ขาดออกเป็นท่อน, เป็นชิ้น, เป็นแผ่น ฯลฯ เช่น 锯树 (เลื่อยต้นไม้)、锯木头 (เลื่อยไม้)

ถ้าสังเกตให้ดี คำกริยาเหล่านี้ ส่วนใหญ่จะมีมีด (刀) หรือของมีคม (刂,立刀旁) เป็นส่วนประกอบ ยกเว้น “拉”(ความหมายเดิม แปลว่า “ลาก” หรือ “ดึง”),“锯”(คำนาม คือ “锯子”(เลื่อย))

 

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “很” คือ มาก หรือ very ในภาษาอังกฤษ ใช่หรือไม่

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

เราลองมาดูประโยค 2 ประโยคต่อไปนี้

  • 今天我忙。
  • 他汉语说得流利。

สองประโยคข้างบน เป็นการใช้ภาษาจีนที่ไม่ค่อยดี หรือถูกต้องเท่าไร

เมื่อเราใช้คำคุณศัพท์ (形容词) เป็นภาคแสดง (谓语) หรือบทเสริม (补语) เราไม่สามารถพูด หรือกล่าวเฉพาะคำคุณศัพท์ออกมาเฉยๆ โดดๆ (ดังเช่น 2 ประโยคข้างต้น)

ประโยคที่ถูกต้อง คือ หน้า หรือหลังคำคุณศัพท์ควรมีส่วนประกอบอื่นอยู่ด้วย เช่น

  • 今天我很忙。
  • 他汉语说得很流利。

ความหมายของ “很” ในที่นี้ไม่ได้มีความหมายชัดเจนนัก “很忙” ก็คือ ยุ่ง หรือ busy ไม่ใช่ very busy

“非常忙” ต่างหากจึงจะหมายถึง ยุ่งมาก หรือ very busy

เราอาจจะพูดได้ตามตัวอย่างข้่างล่างนี้

  • 今天我 有点儿忙。
  • 今天我 比较忙。
  • 今天我 很忙。
  • 今天我 非常忙。
  • 今天我 太忙了。
  • 今天我 忙极了。
  • 他汉语说得 不流利。
  • 他汉语说得 不太流利。
  • 他汉语说得 不很流利。
  • 他汉语说得 比较流利。
  • 他汉语说得 很流利。
  • 他汉语说得 非常流利。
  • 他汉语说得 太流利了!
  • 他汉语说得 流利极了!
  • 他汉语说得 真流利啊!

แล้วกรณีใดบ้างที่เราสามารถใช้คำคุณศัพท์โดดๆ เดี่ยวๆ โดยไม่ต้องมีส่วนประกอบอื่นอยู่ด้วย เช่น “我忙”

1. กรณีที่ต้องการเปรียบเทียบ เช่น

  • 我忙,他不忙。
  • 他说得流利,他朋友说得不太流利。

2. กรณีที่ใช้ตอบคำถามบอก หรือแสดง “ผลของการเปรียบเทียบ” เช่น

  • 你跟你弟弟谁忙?
  • 我忙。(ความหมาย คือ 我比我弟弟忙。)
  • 他跟他朋友谁说得流利?
  • 他说得流利。(ความหมาย คือ 他比他朋友说得流利。)

 

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ไวยากรณ์จีน : “一向” VS.”一直”

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“一向”、”一直” เป็นคำกริยาวิเศษณ์ (副词) ทั้งคู่ หมายถึง “(เป็นเช่นนี้/ทำเช่นนี้) มาโดยตลอด, แต่ไหนแต่ไร” (从来如此) โดยทั่วไป 2 คำนี้จะไม่ใช้แทนกัน

เมื่อไรควรใช้ “一向” หรือ “一直” มีหลักเกณฑ์ คือให้ดูว่า เรา (ผู้พูด) ต้องการเน้นอะไร และดูว่า ภาคแสดง (谓语) ของประโยคเป็นคำประเภทไหน (เป็นคำกริยาอะไร หรือคำคุณศัพท์) และมีบทขยายภาคแสดง (状语) เป็นคำบอกเวลาหรือไม่

--> ถ้าต้องการเน้น “ความคงที่ไม่เปลี่ยนแปลง” ของ “คุณลักษณะ, คุณสมบัติ, สภาพ, สภาวะ หรือธรรมชาติของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (ที่คงอยู่ในสภาพ, สภาวะนั้น ไม่เปลี่ยนแปลง)” เราจะใช้ “一向” และ 谓语 (ภาคแสดง) ของประโยคที่ใช้ “一向” จึงมักเป็นคำคุณศัพท์ (形容词) หรือคำกริยาที่เป็นนามธรรม (抽象动词)

  • 这里的商贸一向很发达。(เน้นสภาพ, สภาวะของประธาน คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง, 发达 เป็นกริยานามธรรม)
  • 这个人态度一向很好。(เน้นคุณสมบัติของประธาน คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง, 好 เป็นคำคุณศัพท์)
  • 她的表现一向很好。(เน้นคุณสมบัติของประธาน คงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง, 好 เป็นคำคุณศัพท์)
  • 他一向热情好客。(เน้นคุณสมบัติของประธานคงที่ ไม่เปลี่ยนแปลง, 热情好客 เป็นคำคุณศัพท์)

--> ถ้าต้องการเน้น “ความต่อเนื่อง”, “ไม่ขาดตอน” หรือ “ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง มี “ความต่อเนื่อง” ของการทำกริยา, การกระทำ หรือเหตุการณ์” เราจะใช้ “一直” โดยส่วนใหญ่ “一直” จะใช้กับคำกริยาที่เห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน (具体动词) และมักจะมีคำบอกเวลาเริ่มต้นสิ้นสุด (จะเป็นเวลาตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน หรือจากปัจจุบันถึงอนาคตก็ได้) อยู่ด้วย เพื่อแสดงช่วงเวลาของการกระทำ หรือเกิดกริยานั้น (ส่วนประโยคที่ใช้ “一向” ไม่จำเป็นต้องมีคำบอกเวลาเริ่มต้นสิ้นสุด) ตัวอย่างเช่น

  • 放假以来,他一直在写论文。(เน้นความต่อเนื่องของการกระทำ, 写 เป็นกริยารูปธรรม, มีคำบอกช่วงเวลา)
  • 雨一直下了三天三夜。(เน้นความต่อเนื่องของกริยา, 下 เป็นกริยารูปธรรม, มีคำบอกช่วงเวลา)
  • 明天晚上六点见不到你,我会一直等下去的。(เน้นความต่อเนื่องของการกระทำ, 等 กริยาเป็นรูปธรรม, เวลาในอนาคต)

แต่ในบางกรณี ถ้าเราต้องการเน้น “ความต่อเนื่อง” ก็สามารถใช้ “一直” ในประโยคที่คำกริยาเป็นนามธรรม และไม่มีคำบอกเวลาเริ่มต้นสิ้นสุดก็ได้ ตัวอย่างเช่น

  • 这里的商贸一直很发达。(เน้นความต่อเนื่อง)
  • 她的态度一直很好。(เน้นความต่อเนื่อง)

นอกจากนั้น “一向” ยังใช้เป็นคำนาม (名词) ได้ด้วย กรณีนี้ “一向” จะหมายถึงช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งในอดีต หรือช่วงเวลาใกล้ๆ ที่ผ่านมาไม่นาน (ช่วงนี้, ระยะนี้, หมู่นี้) โดยมักจะมีคำว่า “这”、”那” หรือ “前” วางอยู่ข้างหน้า เป็น “那一向”、”前一向” สองคำนี้หมายถึง ช่วงเวลาในอดีต (ผ่านมาค่อนข้างนานแล้ว) ส่วน “这一向” หมายถึงช่วงเวลาในอดีตที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน คำเหล่านี้จะทำหน้าที่เป็นบทขยายภาคแสดง (状语) ในประโยค ตัวอย่างเช่น

  • 前一向工作很顺利。
  • 你,这一向身体好吗?

คำตรงข้ามของ “一直” คือ 有时(有时候、有的时候)เพราะฉะนั้น ประโยคที่มีคำเหล่านี้ จะใช้ “一直” ร่วมด้วยไม่ได้ (เพราะทำให้ความหมายขัดแย้งกัน)

นอกจากนั้น “一直” ยังสามารถใช้เน้นขอบเขตของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น 从老人一直到小孩 (“一向” ไม่มีวิธีใช้แบบนี้)

ประการสุดท้าย “一直” ยังใช้ในความหมาย “(ไป) ตามทิศทางใดทิศทางหนึ่ง (ไม่เปลี่ยนแปลง)” กรณีนี้ หลัง “一直” มักจะมีคำบอกทิศทาง เช่น 一直往前走、一直往东走 หรือ (一)直走 เป็นต้น

***(ถ้ามีเวลาว่าง) ลองเปรียบเทียบความแตกต่างกับคำว่า “从来” ที่มีความหมายคล้ายๆ กับ “一直”、”一向” แต่มีวิธีใช้ต่างกันดู

 

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese

ภาษาจีน 刚才, 刚,刚刚 ใช้อย่างไร ไม่งง

Gunth Lpnm ใน Love Chinese

“刚才” เป็นคำนาม หมายถึง “เวลา” ที่การกระทำ หรือเหตุการณ์เกิดขี้นไม่นาน หรือไม่ห่างจากเวลาที่ผู้พูดๆ ถึงก่อนหน้านั้น ตรงกับภาษาไทยว่า “เมื่อสักครู่ (นี้)” หรือ “เพิ่งเมื่อสักครู่ (นี้)”

“刚”,“刚刚” เป็นคำกริยาวิเศษณ์ ใช้ขยาย หรือวางหน้าคำกริยา (หรือคำคุณศัพท์) เพื่อบอกว่าการกระทำ หรือเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นไม่นาน หรือเพิ่งจะเกิดขึ้นไม่นาน ตรงกับภาษาไทยว่า “เพิ่งจะ”, “สักครู่” หรือ “สักครู่นี้”

——————————-

1. เมื่อ “刚才”เป็นคำนาม (1) จึงวางหน้าประธาน ได้, (2) วางหลังบุพบท เช่น “比”,“跟”,“在”ได้ และ (3) เป็นส่วนขยาย (หรือทำหน้าที่ขยาย) คำนามได้  “刚”,“刚刚” ใช้ (ทำหน้าที่) แบบนี้ไม่ได้ (ทั้ง 3 กรณี) เพราะ “刚”,“刚刚” เป็นกริยาวิเศษณ์นั่นเอง

ลองดูตัวอย่างประโยคต่อไปนี้

  • 刚才,王老师来找过你。(วางหน้าประธาน)
  • 刚才,我看了一会儿电视。(วางหน้าประธาน)
  • 我的眼睛比刚才好多了,不那么痛了。(เป็นกรรมของบุพบท “比”)
  • 这件事就发生在刚才。(เป็นกรรมของบุพบท “在”)
  • 刚才的事我都看见了。(เป็นส่วนขยายคำนาม)
  • 他把刚才的想法跟经理说了一遍。(เป็นส่วนขยายคำนาม)

——————————-

2. เมื่อ“ 刚才”,“刚”,“刚刚 ”วางไว้หน้าคำกริยา (ภาคแสดง)

“刚才” จะใช้กับเวลา หรือเหตุการณ์ปัจจุบันเท่านั้น (หมายถึงไม่ห่างจากเวลาปัจจุบันมากนัก) และบ่งบอกเวลาที่เฉพาะเจาะจง ประโยคที่ใช้“刚才” จึงไม่สามารถมีคำบอกเวลาอื่นได้อีก

“刚”,“刚刚” นอกจากใช้กับเวลา หรือเหตุการณ์ปัจจุบัน ยังใช้กับเวลา หรือเหตุการณ์ในอดีตได้ด้วย แต่ไม่ได้บ่งบอกเวลาที่เฉพาะเจาะจง ประโยคที่ใช้“刚”,“刚刚” จึงมีคำบอกเวลาอื่นได้ด้วย เช่น

  • 他刚才去操场打了一会儿球。(ใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบัน)
  • 我刚/刚刚从医院回来。(ใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบัน)
  • 昨天,天刚/刚刚亮,他就走了。(ใช้กับเหตุการณ์ในอดีต)
  • 现在刚/刚刚上课。(ใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบัน)
  • 刚来的时候,她谁也不认识。(ใช้กับเหตุการณ์ในอดีต)
  • 最近他刚/刚刚开始上课。(ใช้กับเหตุการณ์ปัจจุบัน)

——————————-

3. “刚”,“刚刚”สามารถวางไว้หน้าคำกริยา (ภาคแสดง) ได้เลย และหลังคำกริยา (ภาคแสดง) จะตามด้วยบทเสริม (เช่น ช่วงเวลา, ผลลัพธ์ ฯลฯ) ได้เลยเช่นเดียวกัน ส่วน “刚才”โดยทั่วไป จะต้องมีส่วนประกอบอื่น (คำ หรือวลีอื่น) เข้ามาประกอบด้วย เช่น

  • 刚/刚刚站起来
  • 刚/刚刚坐一会儿
  • 刚/刚刚记住
  • 刚才才站起来 (มีกริยาวิเศษณ์ (บทขยายภาคแสดง) “才”ประกอบเข้ามาด้วย)
  • 刚才已经坐了一会儿了 (มีกริยาวิเศษณ์ (บทขยายภาคแสดง) “已经”และบทเสริม “一会儿了”ประกอบเข้ามาด้วย)

——————————-

4. รูปปฏิเสธ ต้องวาง “不”,“没”หลัง“刚才”ส่วนประโยคที่ใช้ “刚”ไม่ใช้กับ “不”,“没” เช่น

  • 刚才没做。เมื่อครู่นี้ไม่ได้ทำ
  • 你刚才怎么不说?เมื่อครู่นี้เธอทำไมไม่พูด
  • 我刚才没告诉你。 เมื่อครู่นี้ฉันไม่ได้บอกเธอ

——————————-

5. “刚刚” บ่งบอกเวลา (ห่างจากเวลาที่พูด หรือเกิดเหตุการณ์) ที่สั้น กระชั้นกว่า“刚”ลองเปรียบเทียบประโยค 2 ประโยคนี้

  • 他刚回来。เขาเพึ่งกลับมา
  • 他刚刚回来。เขาเพึ่งจะกลับมา

ข้อแตกต่าง และวิธีใช้ของ “刚才”,“刚”,“刚刚” ยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกพอสมควร สำหรับ “มือใหม่หัดเรียน/ใช้ภาษาจีน” รู้เท่านี้ก็เยี่ยมแล้ว

โอกาสหน้าจะมาเพิ่มเติมรายละเอียดปลีกย่อยส่วนที่เหลือ

โดย Gunth Lpnm ใน Love Chinese